กรมการขนส่งทางบกแนะนำการซื้อ – ขายรถมือสอง ควรดำเนินการด้วยตนเอง ไม่ควรใช้วิธีโอนลอย
นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัญหาการหลอกลวงประชาชนด้วยการนำรถสวมทะเบียนมาหลอกขาย มักเกิดขึ้นกับการซื้อขายรถมือสองด้วยวิธีการโอนลอย เนื่องจากในแบบคำขอโอนมีเพียงชื่อผู้โอน (ชื่อเจ้าของรถ) และไม่ต้องระบุชื่อผู้รับโอนหรือระบุแล้วแต่ยังไม่โอนให้เรียบร้อย
ขณะที่ผู้ซื้อไม่ได้นำรถไปตรวจสภาพรถและจดทะเบียนด้วยตนเองตามขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำให้เกิดช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถนำรถโจรกรรมมาหลอกขายได้โดยง่าย ขบ. จึงแนะนำให้ผู้ซื้อรถโอนทะเบียนรถด้วยตนเองและตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับตัวรถอย่างละเอียด โดยสามารถขอหลักฐานทะเบียนรถจากเจ้าของรถหรือผู้ขาย เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขา และเพื่อเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นสามารถนำรถไปตรวจสอบความถูกต้อง ได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขาที่รถนั้นจดทะเบียนไว้ ซึ่ง ขบ. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันการตรวจสภาพรถตามรายการที่กำหนดทุกคัน เพื่อความปลอดภัยและพิทักษ์สิทธิของประชาชน และป้องกันไม่ให้รถผิดกฎหมายดำเนินการทางทะเบียนได้โดยเด็ดขาด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะระงับการดำเนินการทางทะเบียนที่ไม่ถูกต้องทันที
หากประชาชนพบเห็นรถต้องสงสัยสามารถแจ้งข้อมูลให้ขบ. หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งนี้ หากนำรถผิดกฎหมายดังกล่าวไปใช้อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับสูงสุด 10,000 บาท
สำหรับการซื้อ – ขายรถมือสองทุกครั้ง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถและหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ และสีรถต้องถูกต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกรายการ รวมทั้งต้องมีหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปี ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพและดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนด้วยตนเองทันที ไม่ควรซื้อ – ขายด้วยวิธีโอนลอยหรือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายดำเนินการแทน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
อ้างอิง : กรมขนส่งทางบก