สงขลา คืบหน้าคดีชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นถูกสลายการชุมนุม เหตุคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม
ว่าด้วยคดีที่ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 และชาวบ้าน 37 คนถูกส่งฟ้องเป็นคดีอาญา ข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน คดีอยู่ที่ สน.ดุสิต ชาวบ้านต้องเดินทางขึ้นไปสอบสวนและรายงานตัวมาหลายรอบ แต่ละรอบขึ้นไปทั้งทีก็เอาปูปลาไปขาย จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้กับคน กทม. ประมาณสู้ไม่ถอย คดีผ่านขั้นพนักงานสอบสวน ขึ้นสู่ชั้นอัยการ ก่อนส่งสู่ศาล วันที่ 12 กันยายน 2565 ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เป็นข่าวดียิ่งสำหรับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
ข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่กดดันหน้าทำเนียบจนเป็นมติ ครม. 14ธันวาคม2564 คือ ให้มีการศึกษา SEA ว่าจะนะและพื้นที่รอบๆควรพัฒนาไปในทิศทางใด และให้ยุติการดำเนินการใดๆของนิคมอุตสาหกรรมจะนะในระหว่างที่ศึกษา เวลาผ่านมานาน การตั้งลำ SEA เป็นไปอย่างเชื่องช้าจนน่าหวั่นวิตก มีการประสานนอกรอบในรอบหลายครั้ง บัดนี้ การประชุม ครม.นัด 13 กันยายน 2565 ก็ได้มีมติ ครม. อนุมัติงบประมาณ 28,277,800 บาท สำหรับการศึกษา SEA ซึ่งจะออกมาเป็นแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-ปัตตานี เมื่อได้งบ สภาพัฒน์ก็จะได้เดินหน้าจัดจ้างสถาบันวิชาการดำเนินการศึกษาต่อไป ในเงื่อนเวลาประมาณ 2 ปี อันนี้ก็เป็นอีกข่าวดี
ในระหว่างที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะยังไม่ได้สร้าง บริษัท TPIPP ก็ไปทำโครงการสร้างเจ้าแม่กวนอิมที่สูงที่สุดในโลกที่เขาล้อน สะกอมเทพา เพื่อแผ่บารมีมาช่วยปกป้องคุ้มภัยนิคมอุตสาหกรรมให้สร้างได้ ขณะนี้การปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างก็ยังดำเนินการไป แต่ก็ไม่ได้เร่งรีบ เหมือนยังสับสนว่าจะเดินต่อหรือหยุด เพราะชุมชนไม่เอา และมีความไม่แน่นอนเรื่องการตีความทางกฏหมายว่า องค์เจ้าแม่กวนอิมที่สูง150เมตรนี้ จะเข้าข่าย พรบ.อาคารสูงหรือไม่ หรือเป็นปฏิมากรรม หากเป็นอาคารสูงก็ไม่สามารถสร้างได้ เพราะสีผังเมืองตรงนั้นไม่อนุญาต จะสร้างก็ไม่กล้า จะหยุดก็ไม่ได้ จึงปรับที่ดินไปช้าๆ
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าเชิงข้อเท็จจริงว่าด้วยการยืนหยัดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและพันธมิตร การต่อสู้ของพี่น้องจะนะคือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ที่พี่น้องคนธรรมดา สู้ยิบตากับอำนาจรัฐและอำนาจทุน
อ้างอิง : เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น