สงขลา ชาวสวนยางเฮ ราคายาง 64 บาท รมช.นิพนธ์ ยันแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
วันที่ 15 พ.ค. 65 นายนิพนธ์ รมช.มท. เปิดเผยว่าราคาน้ำยางสดพาราเฉลี่ยในช่วงเดือนพฤษภาคมตั้งแต่วันที่ 1-12 พ.ค.65 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรนั้นอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60 – 62 บาท ซึ่งจากการสอบถามพี่น้องชาวสวนยางในพื้นที่ต่างพึงพอใจในราคาดังกล่าวและต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำเรื่องราคายางพารา ปาล์มน้ำมันให้คงราคาเช่นปัจจุบันนี้ต่อไป ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาประกันที่กระทรวงพาณิชย์ประกันไว้ รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรทั้ง 5 ชนิดประกอบด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าว ล้วนแต่ราคาดีกว่าช่วงที่ผ่านมาและสูงกว่าราคาประกันทุกตัว สิ่งนี้นอกจากจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังไม่ได้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลอีกด้วย
ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรให้สูงขึ้นต่อเนื่อง และจะดูแลพี่น้องเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อให้ครัวเรือนเกษตรกรในประเทศไทยกว่า 14 ล้านครัวเรือนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศหลังสถานการณ์โควิดได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมจุดรับซื้อน้ำยางสดในพื้นที่อำเภอจะนะ และอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา เพื่อสอบถามเรื่องราคาน้ำยางสด ปัญหาจากการรับซื้อ การขนส่ง รวมถึงผลกระทบจากการที่ต้นยางพาราในพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ
โดยพ่อค้ารับซื้อน้ำยางสดในตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ให้ข้อมูลว่า ในจุดที่ตนรับซื้อนั้น จะมีชาวสวนยางในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงนำน้ำยางสดขึ้นรถมอเตอร์ไซด์มาจำหน่าย โดยจุดนี้จะรับซื้อตั้งช่วงเช้าจนถึงเวลาประมาณ 11.00 น.ของทุกวัน โดยการรับซื้อจะใช้ราคาอ้างอิงจากสหกรณ์สวนยางอำเภอจะนะ และรวบรวมน้ำยางสดไปจำหน่ายยังสหกรณ์ฯอีกครั้งหนึ่ง และในเช้าวันนี้ราคาน้ำยางสดรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 64 บาท แต่ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลผลัดใบของต้นยางพาราทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางสดในช่วงนี้มีน้อย
ด้านจุดรับซื้อน้ำยางในพื้นที่อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยางก็ได้เปิดเผยต่อเช่นเดียวกันว่า วันนี้ราคาน้ำยางสดปริมาณความเข้มข้น(30%) รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 63 บาท โดยเฉลี่ยจะรับซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนในพื้นที่ได้ประมาณวันละ 1,000 -1,500 กิโลกรัม ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงต้นยางพาราผลัดใบทำให้ปริมาณน้ำยางในพื้นที่มีน้อย แต่ราคายางพาราในปัจจุบันนี้ก็ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น สามารถมีเงินหมุนเวียนนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และได้ใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนบุตรได้ทันในช่วงเปิดภาคเรียน
อ้างอิง : รัฐนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , สวท.สงขลา