Rapid Test ตรวจโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่อง การเก็บตัวอย่าง / ชุดตรวจ Rapid Test / การพัฒนาศักยภาพขยายแล็บภูมิภาค นพ.โอภาส อธิบายว่าขั้นตอนการตรวจในห้องปฏิบัติการ เริ่มจากเจ้าหน้าที่ซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมีวิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อที่แตกต่างกันไป ซึ่งก่อนทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนคือธรรมชาติของการเกิดโรคก่อน “โดยต้องรู้ว่ากระบวนการเกิดโรคนั้นเกิดจากอะไร กรณีโรคโควิด-19 ต้องไล่ย้อนเริ่มจากวันที่รับเชื้อไปจนถึงวันที่เริ่มมีอาการ โดยในช่วงเวลานี้เรียกว่าระยะฟักตัวของโรค เป็นช่วงที่ไม่มีอาการแต่เชื้อกำลังแบ่งตัวในร่างกาย จนถึงขณะหนึ่งที่ร่างกายสู้ไม่ไหวจึงแสดงอาการออกมา เมื่อเริ่มมีอาการผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะหายเองได้ แต่บางรายอาจโชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กระบวนการเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการเกิดโรคโควิด-19” สำหรับวิธีการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้น หลักๆ มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง ซึ่งขณะนี้วิธีการตรวจที่ไวที่สุดคือ “การตรวจสารพันธุกรรม” (RT PCR) เป็นวิธีการหลักในการวินิจฉัยในปัจจุบัน […]