นักจิตวิทยาห่วงคนไทยเครียดหนัก แนะวิธีจัดการอารมณ์จากผลกระทบโควิด-19
จากวิกฤตโควิด-19 ระบาด ประชาชนไม่เพียงแค่กังวลเรื่องสุขภาพว่าเราจะได้รับเชื้อหรือไม่ แต่ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมามากมาย บางคนถึงกับเครียด ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทาง ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการดูแลสุขภาพจิตช่วงโควิด-19
โดย ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยมาจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้เรารู้สึกกลัวโรค รวมไปถึงผลกระทบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือว่ากิจวัตรประจำวันของเรา รวมไปถึงการทำงาน แม้กระทั่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้เราตึงเครียด วิตกกังวล หรือความกลัวเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีความเครียดอยู่ในระดับไหน และสาเหตุของความเครียดเกิดจากอะไร และค่อยๆ หาทางแก้ไข
“ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะ มีการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ หรือเรารู้สึกว่ามันส่งผลกระทบต่อวิธีการคิดของเรา หรือทำให้เราหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการนอนไม่หลับ ทำให้เรารู้สึกกระสับกระส่ายหรือหัวใจเราเต้นแรก นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าเรารู้สึกตึงเครียดมากเกินไป อาจจะถามตัวเองก่อนว่าปัญหาหลักของเราคืออะไร แล้วพยายามที่จะเจาะจงปัญหาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วอาจจะให้ลองมาลิสต์ดูว่าวิธีการแก้ปัญหานี้ มันมีอะไรบ้าง ณ จุดนี้ อย่าไปสนใจว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดหรือเปล่า คิดอะไรออกให้เขียนลงไปในกระดาษก่อนเลย เขียนเท่าไหร่ยิ่งมากยิ่งดี แล้วมาวิเคราะห์แต่ละวิธีการแก้ปัญหามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว
สำรวจตัวเองแล้ว อย่าลืมสังเกตคนใกล้ชิด
ดร.เจนนิเฟอร์ ยังระบุด้วยว่า ควรหมั่นสังเหตความผิดปกติทางอารมณ์ของคนใกล้ชิดด้วย เนื่องจากแต่ละคนก็มีการแสดงออกหรือมีสัญญาณที่ต่างกันออกไป ถ้าเกิดคนรอบข้างของเรามีอาการ หรือว่ามีอาการรู้สึกโดดเดี่ยว หรือปลีกตัวออกจากสังคม ไม่พูดไม่จาเก็บตัวมากเกินไป ไม่รับประทานอาหาร ปิดตัวเอง เราอาจจะต้องไปพูดคุยกับเขา แต่ถ้าเราพูดคุยกับเขาแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรให้เขาไปพบกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
Social Distancing พยายามทำให้ความสัมพันธ์เหมือนเดิม
อาจารย์เจนนิเฟอร์ แนะนำว่า ในช่วงนี้เรารณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางร่างกาย แต่ทำอย่างไรให้เรายังคงความสัมพันธ์ทางสังคมเอาไว้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ค่อนข้างสำคัญที่จะทำอย่างไรให้เรายังมี Social connection กันอยู่ คงความสัมพันธ์ทางสังคมเอาไว้ สิ่งแรกเลย เราพยายามที่จะพูดคุยกับคนอื่นให้ได้มากที่สุด สมมติว่าไม่มีใครติดต่อเรามา เราก็อาจจะติดต่อคนอื่นไปก่อนได้ พยายามพูดคุยกับเพื่อนพูดคุยกับครอบครัวให้ได้มากที่สุด แล้วก็เล่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้เขาฟัง เพราะมันไม่ผิดเลยที่เราจะพูดว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่ การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง
สร้างรอยยิ้ม จากสิ่งเล็กๆ รอบตัว
ในภาวะที่มีข้อจำกัด ไม่ให้เราสามารถทำในสิ่งที่เคยทำ เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือทำงานให้ประสบความสำเร็จเหมื่อนเช่นที่ผ่านมาได้ อาจารย์เจนนิเฟอร์ แนะนำว่า พยายามอย่าฝืนตัวเอง และอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ว่าวันนี้เราทำอะไรไม่ดีเลย เราทำอะไรได้ไม่เต็มที่เลย หรือทำไมเราถึงไม่มีความสุขกับทุก ๆ วันที่เราใช้ชีวิต ทุกอย่างตอนนี้สถานการณ์มีความไม่แน่นอนอยู่ เพราะฉะนั้นอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ก็อยากจะให้มองถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่มันทำให้เรายิ้มได้ เพราะเชื่อว่าถึงแม้สถานการณ์มันวิกฤตอยู่ แต่มันก็ยังพอมีอะไรที่พอให้เรายิ้มได้แต่บางทีเรามองข้ามมันไปอยู่
ทั้งนี้ยังมีข้อมูลจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่จากการดูแลเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง และยังต้องระวังรักษาสุขภาพจิตไม่ให้เกิดความเครียดด้วย โดยกรมสุขภาพจิตเตรียมเร่งเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน 4 กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มผู้กักกันและผู้ติดเชื้อ, กลุ่มญาติของผู้กักกันและติดเชื้อ, กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และ กลุ่มประชาชนทั่วไป หลังมีผลสำรวจพบว่าประชาชน 51.85% มีความเครียดและความวิตกกังวล
หากท่านใดมีความเครียดและต้องการโทรมาขอคำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่กรมสุขภาพจิตทางสายด่วน 1323
อ้างอิงข้อมูลจาก: สำนักงานเลขานุการกรม กรมสุขภาพจิต
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์