การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยุทธศาสตร์ใหม่สร้างรายได้ในอำเภอหาดใหญ่
ศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทยที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ได้แสดงให้เห็นต่อสายตาชาวโลกโดยเฉพาะการป้องกันภัยจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้สามารถควบคุมได้ และยังได้รับคำชมจากนานาชาตินั้น คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย
แน่นอนว่าตามนิยามแล้วการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Health Tourism) คือการเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยสดงดงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีจิตสำนึกต่อการส่งเสริมและรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวตามกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งพร้อมในด้านบริการทางการแพทย์และบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ บริการด้านการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้บริการในไทย ได้แก่ การตรวจเช็คสุขภาพ การทำเลสิค ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม การผ่าตัด และการพักฟื้น เป็นต้น นอกจากนี้ บริการด้านแพทย์ทางเลือกของไทย อาทิ นวดแผนไทย และสปา มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมตั้งแต่การเดินทางเข้ามาใช้บริการ ไปจนถึงการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางการแพทย์และการแพทย์ทางเลือก จึงยากที่จะกำหนดขนาดของตลาดโดยรวมได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดในส่วนที่ใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนสามารถประเมินขนาดของตลาดได้จากสถิติการเข้ามาใช้บริการ ร้อยละ 60 จะเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย และร้อยละ 40 เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์
เมื่อมองมายังอำเภอหาดใหญ่ นับว่าเป็นจุดหมายสำคัญในด้านแรงดึงดูดของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การมีปัยจัยท่องในด้านสถานที่และกิจกรรม 2 ประเภทคือ
1. การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Tourism) เป็นลักษณะเดินทางเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ตัวเองชอบ แล้วจึงจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อมาทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน เช่น การนวด/อบ/ประคบสมุนไพร การบริการสุวคนธบำบัด (Aroma Therapy) และวารีบำบัด (Water Therapy) การท่องเที่ยวในลักษณะนี้ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายของนักท่องเที่ยวรู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นการเพิ่มพูนพละกำลังให้สมบูรณ์แข็งแรง ปรับความสมดุลให้กับร่างกาย ซึ่งในอำเภอหาดใหญ่ ได้มี หาดใหญ่ชีวาสุข ศูนย์การแพทย์ผสมผสาน เน้นการเรียนรู้และบูรณาการความรู้ด้านการแพทย์และภูมิปัญญาตะวันออก เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ให้บริการนวดแผนไทย ยาสมุนไพรไทย กายภาพบำบัด และ ธรรมชาติบำบัด แก่ประชาชน โดยมีทีมสหวิชาชีพจากเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้แก่ แพทย์แผนไทย นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
2. การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Heath Healing Tourism) เป็นการเดินทางท่องเที่ยว โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในช่วงเที่ยวไปรับบริการบำบัดรักษาสุขภาพการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน เช่น การตรวจร่างกาย การรักษาโรคต่างๆ การทำฟัน และการรักษาสุขภาพฟัน การผ่าตัดเสริมความงาม การผ่าตัดแปลงเพศ ฯลฯ การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพจึงมุ่งประโยชน์ต่อการรักษาฟื้นฟูสุขภาพนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ หรืออาจจะเป็นการพักฟื้นหลังจากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ การที่ผู้ป่วยได้ทำกายภาพบำบัดหรือพักฟื้นในสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติที่มีอากาศที่บริสุทธิ์ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างเต็มที่
แน่นอนว่า ปัจจุบันในอำเภอหาดใหญ่มีสถานที่ให้บริการการท่องเที่ยวในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง เนื่องจากมีความต้องการของผู้ใช้บริการมาก ซึ่งแต่ละแห่งจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้ทันสมัย พัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของความปลอดภัยหรือแม้กระทั่งเพื่อความสะดวกสบายของการใช้บริการ
ข้อมูลเพิ่มเติม
-
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ
- สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์