อ้างอิง : สนง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
จังหวัดสงขลา ล็อกเป้า 3 จุดสำคัญ มาตรการเฝ้าระวังน้ำหลากภาคใต้ช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. นี้
วันนี้ (10 ต.ค.63) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดตามการดำเนินการโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยทะเลสาบสงขลาที่ สทนช.ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จและจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นลุ่มน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา (อำเภอเมือง หาดใหญ่ สะเดา รัตภูมิ ระโนด สทิงพระ ควนเนียง กระแสสินธุ์ นาหม่อม บางกล่ำ คลองหอยโข่ง จังหวัดพัทลุงทั้งหมด และจังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอชะอวด และหัวไทร)
สำหรับในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะเลขาธิการ สทนช. ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการที่สอดคล้องกับการศึกษาที่เกี่ยวกับตะกอนในทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การดำเนินการขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบสงขลา (ร่องใน) ของกรมเจ้าท่า บริเวณแหลมเลนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นจุดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก อีกทั้งยังเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาตอนล่างสู่อ่าวไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อนำตะกอนสะสมในร่องน้ำออกไม่ให้เกิดความตื้นเขิน ป้องกันการเกิดเนินทรายหรือสันดอนทราย โดยการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าวต้องทำควบคู่ไปกับการขุดลอกร่องกลางทะเลสาบตอนล่าง และร่องน้ำร่องนอก เพื่อให้เรือสามารถสัญจรเข้า-ออกได้ตามปกติ และช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดที่สอง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้แก่ การดำเนินการของกรมชลประทาน บริเวณแก้มลิงบ้านชะแล้ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับ 4 อำเภอของ จังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และ อำเภอสิงหนคร ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบชายทะเล ในอดีตไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงคลองและระบบลำเลียงน้ำในพื้นที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูง จนไม่สามารถทำ การเกษตรได้ ซึ่งจากการศึกษาของกรมชลประทานพบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด คือ การสร้างแก้มลิง 3 จุด โดยแก้มลิงบ้านชะแล้เป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 275 ไร่ ลึด 4 เมตร ความจุประมาณ 1.76 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งสำหรับทำการเกษตรของประชาชนในตำบลชะแล้ ถึง 816 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1,418 ไร่
สำหรับจุดสุดท้าย คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยีตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา (ระยะที่ 2) เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมได้เพียง 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยทั้ง 3 จุด เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ถือว่าเป็นตัวอย่างการดำเนินงานภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความเหมาะสมทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และการบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบข้างต้นแล้ว การติดตามประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบไว้ล่วงหน้า ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีการติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงเดือนตุลาคม ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านทาง ตอนล่างของประเทศ ส่งผลให้ภาคใต้เริ่มมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วง 7 วันข้างหน้า พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 5 จังหวัด บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล ทั้งนี้ กอนช. จะมีการประชุมติดตามแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง รวมถึงประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำต่าง ๆ แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยปัจจุบัน ดำเนินการแล้วเสร็จ 51 แห่ง ยังคงเหลือ 12 แห่ง จากแผนทั้งหมด 115 แห่ง