เกาะยอ-สงขลา ชาวสวนละมุดเริ่มเก็บผลผลิตจำหน่ายหลังเข้าสู่ฤดูกาลสร้างรายได้อย่างงาม
สวนละมุด หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่าลูกสวา ซึ่งปลูกในพื้นที่ ม.7 ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ของนายไพฑูรย์ ทีปบวรและภรรยา ปลูกละมุดพันธุ์ไข่ห่าน 40 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ หลังละมุดเกาะยอเข้าสู่ฤดูกาลที่ผลผลิตทยอยออกให้ชาวสวนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูกาลใหม่ซึ่งละมุดเกาะยอจะเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี ซึ่งผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ชาวสวนละมุดเกาะยอต่างทยอยเก็บผลผลิตสร้างรายได้ และนายไพฑูรย์ ทีปบวร ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าโหนด หมู่ที่7 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ก็เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ปลูกละมุดสร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวยามว่างจากงานราชการ ช่วยกันเก็บผลผลิตละมุดพันธุ์ไข่ห่าน หลังมีออร์เดอร์สั่งเข้ามาจำนวนมากในช่วงนี้
ทางด้านนายไพฑูรย์ ทีปบวร เผยว่า เกาะยอมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบทำให้เกิดช่วงน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย(3น้ำ)ส่งผลให้ละมุดเกาะยอ มีรสชาติ หอม หวาน กรอบ เนื้อละเอียด มีสีน้ำตาลเมื่อสุกเต็มที่ ทำให้ละมุด(สวา)เกาะยอมีรสชาติต่างจากละมุดที่อื่น นั่นถือเป็นอัตลักษณ์ของละมุดเกาะยอ ซึ่งวันนี้ตนและครอบครัวช่วยกันเก็บผลผลิตประมาณ100 กิโลกรัม หลังจากเก็บก็นำมาแช่น้ำสะอาดเพื่อล้างยางของละมุดออก แล้วนำผลละมุดล้างอีกครั้งด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติเพียง 5 นาที นำออกมาผึ่งลม 40 นาทีแล้วค้ดแยกผลที่ไม่ได้ขนาดและ ผลมีตำหนิออกไป โดยผลมีตำหนิจะไม่นำไปจำหน่ายให้ลูกค้าเด็ดขาด และคัดเกรดตามขนาดและน้ำหนักผลซึ่งขนาดผล 5-7 ผล/ก.ก.(ขนาดจัมโบ้) ราคา 50 บาท เบอร์ 1 ขนาด 8-9 ผล/ก.ก.ราคา 45 บาท เบอร์ 2 ขนาด10-11ผล/ก.ก.ราคา 40 บาท และเบอร์ 3 ขนาดผลเล็กสุด 12 ผลขึ้นไปราคา กก.ละ 35 บาท ซึ่งละมุดจากสวนของผู้ใหญ่บ้านไพฑูรย์จะจำหน่ายผลดิบทั้งหมด จะเก็บผลผลิตที่แก่จัดและจำหน่ายให้กับลูกค้า และแม่ค้าจะมารับซื้อถึงบ้าน แล้วนำไปบ่มเพียง 2 วัน ก็สามารถบริโภคและขายผลสุกได้
แต่ในปีนี้ผลผลิตออกน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วมีฝนทั้งปีทำให้ดอกสวา หลุดร่วงจำนวนมาก ติดผลน้อยกว่าเดิม แต่ผลที่ได้จะมีขนาดโตส่วนใหญ่จะได้ขนาดจัมโบว์ และเบอร์1 ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาค่อนข้างดี ส่วนด้านมาตรฐานความปลอดภัยสวนละมุดของผู้ใหญ่บ้านไพฑูรย์ก็ได้ผ่านการรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรปลอดภัยจากกรมวิชาการเกษตรซึ่งสามารถการันตีความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภครวมทั้งยังเป็นแปลงเรียนรู้ไม้ผลอัตลักษณ์ละมุด(สวา)เกาะยอของอำเภอเมืองสงขลาอีกด้วย
อ้างอิง : สวท.สงขลา