โมเดล “BCG Economy” แนวทางการพัฒนาสงขลาสู่ความยั่งยืน
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย และประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
BCG Economy Model จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ต้องก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ขยะล้นเมือง โลกร้อน รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ไม่เพิ่มขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งขับเคลื่อน BCG โมเดล รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึง บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
BCG โมเดล สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใน 20 ปี จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรมากกว่า 3 เท่าตัว และลดการใช้ทรัพยากรเหลือสองในสามจากปัจจุบัน
BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ
B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า
C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
เมื่อมองมายังจังหวัดสงขลาบ้านเรานั้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้กับทางเศรษฐกิจบ้านเรา จังหวัดสงขลานับว่าเป็นจังหวัดที่สามารถสร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรราว อยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ จากรายได้ทั้งหมดซึ่งคิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท แน่นอนว่าเมื่อนำ BCG Model มาใช้เกษตรกรบ้านเราจะต้องเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องไม่เป็นเทคโนโลยีที่ซ้ำซ้อนจนเกินไป หรือยากต่อการใช้งานในเกษตรกรส่วนใหญ่
ด้านสุขภาพและการแพทย์พื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีมหาลัยวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผลงานด้านการวิจัยพืชสมุนไพรให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อร่างกายมนุษย์
ด้านของการท่องเที่ยวคือการประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวอย่างที่ทราบกันดีว่าสงขลาได้รับการผ่านมาตรฐานเป็น MICE City เมืองที่ 6 ของไทย ฉะนั้นการวางรูปแบบการท่องเที่ยวจะต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ เช่นมีการวางระบบแอปพลิเคชั่น ในการเป็นข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านเส้นทางและความรู้
ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้ BCG Model จะช่วยให้ประเทศไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้า GDP เป็น 4.3 ล้านล้านบาทและจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมของประเทศกลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ PSU Hackathon