สวนสัตว์สงขลาเพาะขยายพันธุ์ เต่าหกเหลือง ออกไข่เพิ่มอีก 91 ฟองหลังมีความเสี่ยงสูญพันธุ์
วันที่ 7 ก.ค. 65 นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) ประสบความสำเร็จการเพาะขยายพันธุ์เต่าหกเหลือง ที่มีความสำคัญต่อระบบและความหลากลายทางชีวภาพในภาคใต้ของประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยการศึกษาชีววิทยาเต่าหกเหลืองในการเพาะขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2565 โดยช่วงเดือนมิถุนายน 2564 พบแม่เต่าหกเหลืองเริ่มวางไข่รุ่นแรกได้ 9 ฟอง แล้วฟักตัวภายใน 60 วันได้ 8 ตัว จากนั้นสวนสัตว์สงขลาได้ศึกษาการเพาะขยายพันธุ์ต่อเนื่องจนพบมีแม่พันธุ์เต่าหกเหลือง 3 ตัวได้วางไข่มากถึง 91 ฟอง
ภายใต้การดูแลของทีมวิจัยของสวนสัตว์สงขลาอย่างใกล้ชิด ถือเป็นความสำเร็จของการขยายพันธุ์เต่าหกเหลือง ที่แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ศึกษาเรื่องชีววิทยา พฤติกรรม การผสมพันธุ์ และการวางไข่ในสภาพการเพาะเลี้ยง // ระยะที่ 2 ศึกษาค่าทางโลหิตวิทยาและสุขภาพของเต่าหกเหลือง และระยะสุดท้าย ศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งมีพ่อแม่พันธุ์เต่าหกเหลืองที่แข็งแรงเพศผู้ 5 ตัว และเพศเมีย 10 ตัว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสวนสัตว์สงขลาเคยเพาะขยายพันธุ์เต่าหกเหลืองและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมาแล้ว เพื่อสร้างความสมบูรณ์ทางธรรมชาติในระบบนิเวศ เนื่องจากเต่าหกเหลืองเป็นสัตว์ประจำถิ่นทางภาคใต้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และจัดเป็นสัตว์คุ้มครองที่ควรอนุรักษ์รักษาไว้
สำหรับเต่าหกเหลือง เป็นเต่าบกขนาดใหญ่ของไทยที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และระดับสากลจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งในอนาคตได้วางแผนการเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอีก เพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
อ้างอิง : องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย