รพ.สนามศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ม.อ.หาดใหญ่ จัดทำระบบความดันลบ ฆ่าเชื้อในอากาศ พร้อมบำบัดน้ำเสีย
สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมไว้ 200 เตียง และสามารถรองรับได้อีก 500 เตียง รวมเป็น 700 เตียง กรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้ง จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ไว้ หากมีการรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงๆ ละ 8 ชั่วโมง เน้นคุณภาพความปลอดภัย และเป็นส่วนหนี่งของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ทางด้านนายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าขณะนี้ได้ปรับศูนย์อาหารของศูนย์ประชุมนานาชาติฯ เป็นโรงพยาบาลสนาม มีห้องอาบน้ำอยู่ด้านหลัง ระบบอากาศจะฆ่าเชื้อด้วยพลาสมา อากาศที่ออกจากที่นี่จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับชุมชน เชื้อโรคไม่แพร่กระจายออกไป จะทำให้ห้องมีความดันลบคล้ายโรงพยาบาล น้ำเสียจะได้รับการบำบัด ก่อนปล่อยออกไป ระบบโรงพยาบาลสนาม จะให้ความมั่นใจในความปลอดภัยและ ให้ความสะดวกสบาย
สิ่งที่คนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามฯ ต้องเตรียม คือ เสื้อผ้า สำหรับ 14 วัน ของใช้ส่วนตัวอื่นๆ สำหรับอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ระบบปรับอากาศ ระบบ wifi ปลั๊กไฟ มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมไว้ให้ และเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 ดูแล พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และคณะได้เข้าตรวจเยี่ยม และพอใจในการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม และขอบคุณความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายแพทย์กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เผยว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้มีการระดมสรรพกำลัง คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม โดยโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นศูนย์ ทำหน้าที่กระจายและส่งผู้ป่วย มีการเชื่อมโยงระบบสาธารณสุข รูปแบบโรงพยาบาลสนามจะรับคนไข้ที่มีอาการไม่หนัก ไม่มีโรคประจำตัว สามารถเชื่อมโยงส่งต่อเข้าไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทันที
และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ได้มีการซ้อมบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่ายในการเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ เพื่อให้การทำงานราบรื่น โดยจัดให้มีระบบวงจรปิด ติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อเอกซเรย์ปอดคนไข้ ตั้งแต่เข้ามาทำการรักษา และระหว่างการรักษา ติดตั้งเครื่องเสียง เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยตั้งแต่การลงทะเบียน วัดความดันโลหิต เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา และบุคลากร ของคณะพยาบาลศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ/ส่วนงานต่างๆ
อ้างอิง : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์