การยางแห่งประเทศไทย เตรียมจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 ในเดือนธันวาคมนี้
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีหลังมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ว่า ส่งผลให้มีเกษตรกรได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 2 ที่แจ้งขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 และเป็นสวนยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 1,834,087 ราย รวมพื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายสามารถเข้าร่วมโครงการไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาของการประกันรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 รวม 6 เดือน
รัฐบาลได้กำหนดเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตัวเลขการจ่ายเงินงวดที่ 1 ประจำเดือนตุลาคม 2563 และงวดที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2563 กยท. จะดำเนินการจ่ายค่าชดเชยพร้อมกันทั้ง 2 งวดในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเดือนละ 1 ครั้ง จนครบ 6 งวดตามโครงการในเดือนมีนาคม 2564 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางในกรณีที่รายได้เกษตรกร ลดลงจากรายได้ที่ควรจะได้รับ
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันว่า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบราคารเฉลี่ย 63.56 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดราคาเฉลี่ยประมาณ 56-57 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วยราคาเฉลี่ย 21.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี การประกันหรือการชดเชยรายได้ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาจะมีการชดเชยเพียงราคาน้ำยางสดและราคายางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบอยู่เกินราคาประกันที่ 60 บาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นประกอบกับประเทศผู้ผลิตยางประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ผลผลิตลดลง จึงส่งผลให้ราคายางราพราปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้ราคายางพารา ยังคงมาตรการผลักดันส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตยาง ไม้ยาง สินเชื่อหมุนเวียน เป็นต้น ควบคู่กับการควบคุมปริมาณผลผลิตปรับพื้นที่ปลูกยางให้เหมาะสม คู่ขนานกับการประกันรายได้เกษตรกร