พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์กับเกษตรกรอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรมและทั่วถึง
วันที่ 26 เม.ย. 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และคณะ ลงพื้นที่สวนยางพารานายอภิชาติ ใจบุญ หมู่ 6 ตำบลนาหว้า บ้านประจ่าใต้ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้ยางพารา และรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากตัวแทนชาวสวนยางพารา โดยมีกลุ่มตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา อำเภอจะนะ ร่วมให้การต้อนรับ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รวมถึงชาวสวนยาง และชาวสวนปาล์ม เป็น 1 ใน12 นโยบายที่ได้ชี้แจงต่อรัฐสภา
โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ผลผลิตเกษตร 5 ชนิดคือ ปาล์ม ข้าว ยาง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง
โดยการประกันรายได้จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร ไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำ และทำให้กลไกของตลาดทำงานได้ปรกติ ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันทางการค้าได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากราคาพืชผลที่ขายได้จริง และจากรายได้ส่วนต่างที่รัฐจ่ายชดเชยให้
อย่างไรก็ตามสำหรับการกำหนดราคาประกันรายได้จากการขายยางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยหลักเกณฑ์รับประกันคือ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลปลูกยางกับ กยท. มีต้นยางอายุ 7 ปีขึ้นไปเปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมกำหนดปริมาณผลผลิตยางประกันรายได้ที่ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน
ทั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้าของการจ่ายส่วนต่างของรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกในที่ดินของรัฐ (บัตรสีชมพู) ที่ยังไม่ได้รับส่วนต่างของการประกันรายได้ โดยจังหวัดสงขลามีเกษตรกรผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง รอบที่ 1 จำนวน 25,480 ราย ผ่านการรับรองสิทธิ์ จำนวน 18,635 ราย ดำเนินการสั่งจ่ายแล้ว 14,179 ราย และยังไม่ได้สั่งจ่าย จำนวน 4,456 ราย พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย เพื่อให้มีเกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์สูงสุด