เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ระดับจังหวัด
วันที่ 9 ก.พ. 65 นายสุชาติ เซ่งมาก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 จังหวัดสงขลา โดยมี นายประดิษฐ์ ร่มสุข ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ กษ. กยท. ธ.ก.ส ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมาย เพื่อประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และได้แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง กับ กยท. ภายใน วันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1.8 ล้านราย พื้นที่สวนยาง 19.1 ล้านไร่ ทั่วประเทศ
สำหรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จะต้อง
– ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย
– สวนยางเปิดกรีดอายุ 7 ปีขึ้นไป
– ไม่เกิน 25 ไร่/ราย

สำหรับวัตถุประสงค์
1.เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤตการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา
2.เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
สำหรับหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของโครงการ
1. เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่
2. กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้
2.1 ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 ก.ก./ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ (ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดีและน้ำยาง DRC 100%)
2.2 ผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%)จำนวน 40 ก.ก./ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ (ได้แก่ ยางก้อนถ้วย DRC 50%)

3. ระยะเวลาประกันรายได้ ตั้งแต่ ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565
4. การประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ
– ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/ ก.ก.
– น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท /ก.ก.
– ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/ ก.ก.


อ้างอิง : เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา