ศบค.อนุมัติมาตรการผ่อนคลายอนุญาตประเภทบุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้าไทย
เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติมาตรการผ่อนคลายอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้ามาในประเทศได้ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. นักกีฬาต่างชาติ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ (วันที่ 6-16 ต.ค. 2563) โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในหลายจังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 6-16 ต.ค.นี้ ซึ่งนักกีฬาที่จะเดินทางเข้ามาจะพักที่ State Quarantine คือ โรงแรมรัตนโกสินทร์
2. นักบินและลูกเรือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ใน Repatriation Flight หรือเที่ยวบินที่รับคนไทยกลับประเทศ รวมทั้งที่รับนักกีฬาเข้ามาในประเทศ ให้ดำเนินการกักตัวใน State Quarantine (คาดว่ามีจำนวนประมาณกว่า 300 คน)
3. ผู้ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non Immigrant) ประเภทต่างๆ เน้นเฉพาะนักธุรกิจที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเภทต่างๆ พร้อมแสดงสำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
4. ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม Long Stay มีการตรวจลงตราประเภท Special Tourist Visa โดยในเบื้องต้น นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องถูกกักตัวในจังหวัดที่กำหนด เป็นเวลา 14 วัน แต่จะสามารถเดินทางออกนอกที่พักได้ไม่เกิน 1 กิโลเมตร หากไม่พบเชื้อ จึงจะสามารถท่องเที่ยวนอกรัศมีที่กำหนด ซึ่งจะอยู่ในประเทศไทยได้ระยะยาว คือ 90 วัน และต่อวีซ่าเพิ่มได้ 2 ครั้ง รวม 270 วัน หากต้องการข้ามจังหวัดต้องถูกจำกัดพื้นที่อีกครั้งนาน 7 วัน
5. ผู้ถือบัตร APEC Card โดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เข้าประเทศเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี จีน ฮ่องกง รวมแล้วประมาณ 1 แสนคน
6. ผู้ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยในระยะสั้นและระยะยาว ผู้ที่มีความต้องการที่จะพำนัก 60 วัน สามารถขอต่อได้อีก 30 วัน พร้อมแสดงสำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกลุ่มนี้อยู่ได้ 60 วัน ขอต่อเพิ่มได้ 30 วัน มีเงื่อนไขประกอบว่าต้องแสดงเงินหมุนเวียนในบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ไม่ต่ำว่า 5 แสนบาท ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้พิจารณา