ม.อ. ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คิดค้นกาวยางพารา กลิ่นสมุนไพรไล่มด
ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คิดค้นกาวยางพารากลิ่นสมุนไพรเพื่อไล่มดเปิดเผยถึงแนวคิดในการจัดทำกาวยางพาราไล่มด ว่าต้องการหาวิธีป้องกันมดตอมอาหาร เมื่อเห็นวัสดุของ 3M ที่เป็นกาวติดกระดาษ ใช้งานได้หลายครั้ง เมื่อมาพิจารณายางพาราที่สามารถพัฒนามาทำได้ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยว่าสามารถใส่สารลงไปแล้วค่อยๆ ปลดปล่อยสารได้อย่างยาวนาน ถ้ามาประยุกต์ใช้กับการป้องกันแมลงในบ้านเรา ก็น่าจะใช้งานได้
นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานเพื่อพัฒนาสูตรยางพาราเพื่อการใช้ประโยชน์ในหลายๆ รูปแบบ ใช้เวลา 1 ปีเพื่อหาสูตรที่เหมาะสม ยางธรรมชาติโดยทั่วไปเมื่อแห้ง จะไม่เหนียว แต่ปรากฎว่าสูตรนี้มีความเหนียวหนึบคล้ายหมากฝรั่ง แนวคิดคือต้องยึดติดวัสดุได้ดี ไม่ว่าเป็นพื้น ผนัง หรือโต๊ะก็ได้ และต้องกักเก็บและปลดปล่อยสารได้อย่างยาวนานอีกด้วย
ที่สำคัญต้องปลอดภัยต่อคน ต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่เติมในยางแล้วกันมดได้ดีกว่า อยู่ได้ยาวนานกว่า ก็มีน้ำมันกะเพรา พริกไทยดำ ตะไคร้หอม กานพลูและโหระพา พบว่าน้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีฤทธิ์แค่เดือนเดียวเพราะน้ำมันหอมระเหยแต่ละอย่างมีโมเลกุลไม่เหมือนกัน การสลายตัวแตกต่างกัน แล้วก็พบสูตรที่ดีมากๆ คือ มีประสิทธิภาพกันมดได้ดีและอยู่ได้นานถึง 3 เดือน ใช้งานได้ยาวนานมาก
ในช่วงแรกของการทดลองทำเป็นแบบเทปกาว แผ่นบางๆ เป็นม้วน แต่พอลองทำพบว่าแห้งเร็วไป และสารอยู่ได้ไม่นาน เพราะแถบกาวบางไป เลยเปลี่ยนมาผสมสูตรยางที่ลักษณะคล้ายดินน้ำมันที่เราปั้นเล่น เพียงแต่ทำมาจากยางพารา มีความเหนียว เกาะติดวัสดุได้ดี ปั้นเป็นรูปทรงได้ เป็นก้อนหรือนำมาพันภาชนะ พันขาโต๊ะเพื่อความสะดวกในการใช้งานหลายรูปแบบ
ทางนักวิจัยได้ทดลองกับมดน้ำตาลซึ่งเป็นมดที่เจอบ่อยในบ้านถ้ามีเศษอาหารร่วงพื้นก็จะมากินเร็วมาก ทดสอบโดยเอาอาหารวางไว้สองจุด จุดหนึ่งล้อมด้วยยางที่เราเติมสมุนไพร ส่วนอีกจุดล้อมด้วยยางที่ไม่ผสมอะไร ประมาณ 5 – 10 นาที ในล้อมยางที่ไม่ใส่สารจะมีมดมารุมกินอาหาร ส่วนที่ล้อมด้วยยางที่ผสมน้ำมันหอมระเหย มดไม่เข้ามากินอาหารเลย ทดสอบแบบนี้เดือนละครั้ง ทิ้งไว้นานสามเดือนก็ยังมีประสิทธิภาพ
ต้นแบบคิดว่าสมบูรณ์แล้ว แต่การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หีบห่อก็ต้องน่าสนใจมากกว่านี้ และให้ความรู้ผู้บริโภคว่าใช้งานอย่างไร ต้องเก็บในที่แห้งและเย็น ต้องไม่ร้อนเกินไป ให้รักษาสภาพ เพราะอุณหภูมิสูงมีผลต่อการรักษาสภาพ ถ้าร้อนเนื้อจะย้วย และสารที่เราเติมก็อาจจะหมดประสิทธิภาพเร็วขึ้นต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นแบบเหลวแล้วใส่กระบอกฉีด เรากำลังทดลองอยู่ว่าถ้าทิ้งไว้นานๆ แล้วคุณสมบัติยังดีอยู่ไหม ส่วนแบบกาวดินน้ำมันนี้สามารถใช้ได้เลย อายุใช้งานนาน 3 เดือน
สำหรับผู้สนใจนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ติดต่อได้ที่ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โทรศัพท์ : 074-859-514 นายสิทานนท์ อมตเวทย์ Email: sitanon.a@psu.ac.th นางสาววณภัค พันธุ์ช่างทอง Email: napak.p@psu.ac.th
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์