สงขลา กรมประมงประกาศคุ้มครองสัตว์น้ำจืดช่วงวางไข่-ขยายพันธุ์ ต้องทำประมงตามเงื่อนไข ฝ่าฝืนมีโทษ
วันที่ 17 พ.ค. 65 กรมประมง ประกาศมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดในฤดูมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ที่เรียกว่าช่วงฤดูน้ำแดงโดยกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำประมง และเงื่อนไขทำประมง เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดให้มีโอกาสได้แพร่ขยายพันธุ์ ซึ่งแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ ดังนี้
ช่วงวันที่ 1 กันยายน 2565 ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
สำหรับเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้นเบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
อ้างอิง : กรมประมง