เสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ จากปฏิวัติฝรั่งเศษ สู่นักเรียนชูสามนิ้วติดโบขาว เรื่องราวและความคิดการปลดแอกของเยาวชน
ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมานั้นได้เกิดเหตุการณ์การรุกฮือขึ้นเพื่อแสดงออกของภาคเยาวชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรวมตัวกันประท้วงหน้าโรงเรียน การถือแผ่นป้ายแสดงข้อความต่างๆ หรือเหตุการณ์ล่าสุดที่เหล่านักเรียนได้ทำการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วในช่วงของกิจกรรมเคารพธงชาติ หากแต่มองไปถึงบริบททางประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวของเหตุการณ์สำคัญในแต่ละยุคจะทำให้เราทราบกันว่าเยาวชนมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียกร้องทางการเมือง และในวันนี้ทางสำนักข่าว Hatyai Today News จะพาทุกท่านเข้าไปพบเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ต่อการเรียกร้องทางการในภาคเยาวชน
ปฏิวัติฝรั่งเศส Do you hear the people sing?
ย้อนกลับไปราว 300 กว่าปีก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจากยุคสมัยระบบศักดินาที่มีการแบ่งฐานันดรอย่างหลากหลาย (Hierarchical System) สู่ยุคสว่างไสวทางปัญญา ยุคที่ผู้คนมีเสรีภาพในความคิด เกิดเป็นแนวคิดนักศึกษาหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสที่ในยุคนั้นเต็มไปด้วยนักศึกษาชนชั้นกระฎุมพีไปจนถึงรากหญ้า ที่ต้องการจะปฏิรูประบบการปกครองโดยให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากสงคราม 7 ปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ผลพวงจากสงครามฝรั่งเศสได้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ภาษีของประชาชนถูกรีดเนื้ออย่างหนักชนชั้นไหนที่ร่ำรวยก็มีอันจะกินอย่างไม่ขาด ส่วนชนชั้นล่างก็แล้งแค้นเกินกว่าที่จะหาอาหารมาประทังชีวิตในแต่ละวัน จนเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นของชนชั้นปกครอง กับเหล่าราษฎร ทำให้ในช่วงนั้นเมืองหลวงของฝรั่งเศสอย่างกรุงปารีสเต็มไปด้วยอาชญากรรม การออกปล้นทั้งการวันและกลางคืน ทำให้ในเวลานั้นได้มีการพูดคุยกันระหว่าง ประกอบด้วยนักบวชหรือพระที่เป็นฐานันดรที่ 1 ฐานันดรที่ 2 คือเหล่าขุนนาง และฐานันดรที่ 3 เป็นสามัญชนหรือชนชั้นกระฎุมพี อย่างไรก็ตาม การประชุมไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เนื่องจากการโหวตมติหรือนโยบายใด ๆ ถูกโหวตตามฐานันดรไม่ใช่รายบุคคล ถึงแม้ที่ประชุมมีสมาชิกฐานันดรที่ 3 เยอะสุด แต่นับเป็น 1 โหวตอยู่ดี พวกเขาไม่มีวันชนะเพราะฐานันดร 1 กับ 2 คิดไปในทางเดียวกัน
เหตุผลที่ชนชั้นสูงคิดเหมือนกันเป็นเพราะฐานันดรที่ 1 และ 2 ได้รับการงดเว้นหลายอย่าง โดยเฉพาะการไม่ต้องเสียภาษี พวกเขาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพราะชีวิตสงบสุขอยู่แล้ว ต่างจากฐานันดรที่ 3 ที่ต้องแบกค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับแนวคิดยุคปรัชญาแสงสว่างที่เข้ามายังฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อย ๆ แนวคิดที่ว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รวมถึงเสรีภาพทางความคิดได้สร้างความรู้สึกไม่ยุติธรรมแก่สามัญชน
ทางด้านสามัญชนหรือชนชั้นกระฎุมพี ได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาตัวแทนในชื่อสมัชชาแห่งชาติ เพื่อการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนระบบการปกครอง ถึงกระนั้นฝรั่งเศสในช่วงดังกล่าวได้แบ่งขั้วความคิดออกเป็นสองด้านหลักๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ยังมีความยึดถือในระบบของกษัตริย์ และอีกกลุ่มที่มีความให้ทุกชั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีใครที่จะมีสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามเมื่อความขัดแย้งได้เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจสั่งทหารให้จัดการชาวบ้านที่ก่อความวุ่นวาย เวลาเดียวกันนายทหารบางคนถูกจับขังคุก เพราะปฏิเสธคำสั่งยิงใส่ฝูงชนที่มีความคิดต่าง
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1789 ที่กลุ่มประชาชนนับพันรุกฮือบุกไปยังคุกบัสตีย์เพื่อชิงเอายุทธโทปกรณ์ จากเหล่าทหาร ทำให้นั้นเกิดเป็นเหตุการณ์ที่กลายเป็นวันสัญลักษณ์ อย่างที่เรารู้จักกันในอีกชื่อคือ วันชาติฝรั่งเศส (วันบัสตีย์)
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เกิดแรงกระเพื้อมไปยังเหล่าขุนนางและราชวงศ์ โดยสุดม้ายแล้วทางด้านกษัตริย์ได้ยอมรับกับข้อเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ต่อมาสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสได้ประกาศว่า ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ ยกเลิกสิทธิพิเศษของกลุ่มฐานันดรต่างๆ ยกเลิกการยกเว้นภาษีพระ จากนั้นประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองจนเกิดวลี “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อันลือลั่นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1789 ซึ่งกลายเป็นคำขวัญของประเทศฝรั่งเศสนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สงครามตัวแทน วัยรุ่นเมกา เยาวชนฮิปปี้ และอิทธิพลของ จอห์น เลนน่อน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่เพรียบพร้อมไปด้วยอำนาจทางการทหาร การเมือง ร่วมถึงการทูต มีที่อิทธิพลไปทั่วโลก ทั้งยังมีในเรื่องของระบบแนวคิดทางการเมืองรูปแบบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยไปยังกลุ่มผู้นำประเทศต่าง ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีเดียวกับที่มหาอำนาจอีกซีกโลกอย่างสหภาพโซเวียต (รัสเซียและกลุ่มประทศข้างคียงในปัจจุบัน) ได้แนวคิดการเมืองแสดงจากในแง่แนวคิดตรงข้ามนั้นคือระบบสังคมนิยม ไปยังผู้นำในประเทศต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยจึงก่อให้เกิดภาวะสงครามตัวแทนในประเทศฝั่งเอเชียอย่างมากมาย หากจะเห็นตัวอย่างกันคงเป็นกรณีของประเทศเวียดนาม ที่ทางเวียดนามเหนือจะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามใต้จากสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อชาวอเมริกันผิวขาว เพราะพวกเขายังคงตื่น ทำงาน ซื้อข้าวทานกันได้ตามปกติ แต่ในแง่ของความคิดที่ในช่วงนั้นเริ่มมีกลุ่มเยาวชนที่ไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกประเทศ รวมถึงเหตุการณ์เหยียดผิวที่เป็นปัญหาอยู่อย่างเนืองๆ
ต่อมากลุ่มขบวนการนักศึกษาที่เป็นหัวหอกของการลุกขึ้นคัดค้านและต่อต้านอำนาจ ที่นำโดยมาริโอ ซาวิโอ (Mario Savio) เขาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ มีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มเพื่อนของคณะกรรมการประสานงานของนักศึกษาไม่ใช้ความรุนแรงหรือในชื่อ The Free Berkeley Friends of Student Non-Violent Coordinating Committee ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาผิวดำที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในภาคใต้ มาริโอ ซาวิโอเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย เขานำเพื่อนนักศึกษาเบิร์กเลย์นับพันลงไปช่วยรณรงค์เรื่องสิทธิพลเมืองคนผิวดำในภาคใต้ในภาคฤดูร้อนปีนั้นด้วย
ทำให้อธิการบดีในมหาวิทยาลัยเริ่มออกกฎระเบียบห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ นานา ซึ่งมีผลทำให้นักศึกษาไม่อาจเคลื่อนไหวได้ นำไปสู่การตั้งขบวนการเสรีภาพในการแสดงออก และเผชิญหน้ากับตำรวจที่เข้ามาควบคุมการรวมกลุ่มของนักศึกษาจากนั้นขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มทยอยจัดตั้งขึ้น นำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามในระดับประเทศครั้งแรกในปี 1965 การประท้วงการเกณฑ์ทหารในปี 1967 รวมถึงการสนับสนุนแนวคิดของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำคนสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำ
ในช่วงปลายของยุค 70 ราวปี 1969 จอห์น เลนน่อน ในขณะนั้นที่ได้ดำรงสถานะศิลปินเดี่ยวจากการแยกวงจากกลุ่ม 4 เต่าทอง The Beatles จอห์น เลนน่อน ได้แสดงออกอย่างชัดเจนในแนวคิดที่ว่าโลกของเราไม่ได้ต้องการสงครามแต่ต้องการเสรีภาพในการแสดงออก และสันติสุขที่ทุกคนควรจะได้รับ จอห์น และโยโกะได้เชิญสื่อมวณชนจากสำนักต่างๆ ในขณะนั้น ได้ร่วมพูดคุยโดยที่จอห์น และโยโกะได้สัมภาษณ์ขณะที่ทั้งคู่นอนอยู่บนเตียง ภายในห้องหมายเลข 907 ซึ่งทางจอห์น และโยโกะ ยังได้ซื้อหน้าโฆษณาร่วมพื้นที่บนป้ายบิลบอร์ดด้วยเมสเสจที่ว่า “WAR IS OVER! IF YOU WANT IT.” สงครามจะจบลงถ้าทุกคนต้องการให้มันจบ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดแนวคิดใหม่กับคนรุ่นทั่วโลกให้หันกลับมามองถึงเสรีภาพในชีวิต ร่วมถึงการแสดงออกของตนเองอีกครั้ง เกิดการชุมนุมของนักศึกษาในฐานะคนหัวก้าวหน้า
โจชัว หว่อง ปลายร่มดำที่ไม่เคยกลัวมังกร สู่ เนติวิทย์ นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงทศวรรษที่ 21 ที่เกิดบนประเทศที่มีเวลาห่างจากเราเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสไปยังทั่วโลกสำนักข่าวในหลายๆ ประเทศต่างหลายรายงานข่าวดังกล่าว นั้นคือกรณีของนาย โจชัว หว่อง นักเรียนมัธยมปลายวัย17ปี ที่ได้ออกมาเป็นแกนนำเรียกร้อง ประชาธิปไตยโดยชอบธรรมโดยปราศจากการครอบงำจากจีน โดยผู้ที่มาเรียกร้องล้วนมาจาก นักเรียนนักศึกษาและนักวิชาการ ซึ่งในช่วงกลางปี 2012 นักเรียนกลุ่มนี้ได้เริ่มประท้วงนโยบายการศึกษาของปีกนิยมจีน ที่มีนโยบายเดินตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เน้น “ศีลธรรม” และมีลักษณะเป็น “นโยบายแห่งชาติ” (moral and national education) ตามแบบของพรรค
การประท้วงครั้งนั้นมีนักเรียนและผู้สนับสนุนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าในช่วงที่การประท้วงขึ้นสู่กระแสสูงนั้น มีคนเข้าร่วมจากสาขาอาชีพต่างๆ มากกว่า 120,000 คน การประท้วงนี้ทำให้รัฐสภาฮ่องกงยอมยกเลิกไม่บังคับให้การศึกษาตามแนวทางของพรรคไม่เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนการต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ขบวนการต่อต้านการศึกษาแห่งชาติและศีลธรรม” (The Anti-Moral and National Education Movement) ซึ่งจะเห็นได้ว่าขบวนการนักเรียนนี้เริ่มจากการทำกิจกรรมในโรงเรียน จากการต่อสู้เรื่องปัญหาหลักสูตรแล้วในปี 2012 ก็ยกระดับเรียกร้องกับรัฐบาลฮ่องกงโดยตรงหลังจากชัยชนะในการเรียกร้องเรื่องของนโยบายด้านการศึกษาในปี 2012 แล้ว นักกิจกรรมเหล่านี้ยังเกาะกลุ่มและทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
การเคลื่อนไหวที่สำคัญของคนรุ่นใหม่เกิดในเดือนกันยายน 2014 ซึ่งเริ่มต้นด้วยการประท้วงไม่เข้าชั้นเรียน (class boycott) ที่นำโดยสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (The Hong Kong Federation of Students-HKFS) อันเป็นผลจากข้อเสนอให้จำกัดขั้นตอนของการได้มาของชื่อผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดการประท้วงบนถนน และยึดพื้นที่จัตุรัสที่อยู่หน้าอาคารที่จะมีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 65 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและในการประท้วงครั้งนี้ทำให้โลกได้เห็นผู้นำคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอย่างโจชัว หว่อง, อีวาน แลม, ออสคาร์ ไล, นาทาน ลอร์, เอ็กเนส โชว ต่อมาคนเหล่านี้คือผู้ก่อตั้งพรรคเดโมซิสโต ในต้นปี 2016 การเปิดการประท้วงรัฐบาลปักกิ่งครั้งใหญ่ในเดือนกันยายน 2014 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงการกำเนิดของขบวนประชาธิปไตยในฮ่องกงและแน่นอนว่าขบวนนี้ไม่ตอบรับกับบทบาทของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ยังมองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฮ่องกง ยังคงเป็นอาณานิคมของตนเองอยู่
มาจนถึงในประเทศไทยที่ นาย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาแกนนำและนักเขียน ที่มีชื่อเสียงมาจากการเรียกร้องความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปรับระบบการศึกษา ครั้งหนึ่งเนติวิทย์เคยได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเรียนได้เกรด 4 ภาษาอังกฤษมาจนถึง ม.5 ทั้งที่ผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย กลับกันผมไปอยู่อินเดีย 3 เดือน กลับเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาบ้านเรากันแน่” รวมถึงการต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.เอก.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าไม่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลอย่างถูกต้อง รวมถึงการต่อต้านฝ่ายบริหารของรั้วจามจุรีสีชมพู ที่อนุญาตนิสิตจัดการชุมนุม โดยได้มีการติดแฮ็ชแท็กในโลกออนไลน์อย่าง #เสาหลักจะหักเผด็จการ
นักเรียนโบว์ขาวชูสามนิ้ว ประชาชนถือป้าย การปลดแอกของมวลชน
ล่วงเข้ามาในช่วงไม่กี่วันจากสถานการณ์ภายในบ้านเรา ที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่นักเรียนหลายโรงเรียนพร้อมใจชู มือสามนิ้วในช่วงเคารพธงชาติ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเสมือนเป็นหนึ่งการแสดงออกทางการเมือง ที่พร้อมเพรียงกัน ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิ์เสรีภาพ ความเสมอภาค ต่อต้านระบบอำนาจนิยม กรณีเด็กนักเรียนแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ระหว่างเคารพธงชาติ และได้มีเหตุการณ์คุณครูและผอ. เข้ามาห้ามและไม่ได้อนุญาตให้เกิดการแสดงออกต่างๆ กลายเป็นภาพที่ออกไปเป็นเสียงวิจารณ์ในกระแสสังคม
ต่อมาทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว ในหลายโรงเรียนอาจจะมีความคิดเห็นต่าง และอยากจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่การแสดงออกในบริบทไหนนั้น โรงเรียนควรรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนขอให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผอ.โรงเรียน และครู มาหารือร่วมกับนักเรียน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแสดงสัญลักษณ์ ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยก และความปั่นป่วนในโรงเรียน ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ผอ.โรงเรียน ที่จะบริหารจัดการ ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมา พบว่า ผอ.โรงเรียน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แต่ยังอยู่ในภาวะที่เราสามารถทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้
จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เราเห็นถึงส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์สำคัญนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันการที่เยาวชนเข้ามามีบทบาททางการเมืองการเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพที่ควรจะพึงมี แน่นอนว่าเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนี้ยังคงคลุกกรุ่นอย่างต่อเนื่องทางสำนักข่าว Hatyai Today News จะรายงานและแจ้งให้ทราบเพื่ออัปเดตสถานการณ์ในครั้งถัดๆ ไป
อ้างอิง :
- -การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม
- -15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ชาวอเมริกันกว่าครึ่งล้านชุมนุมประท้วงการส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม
- -บทเพลงของคนเพ้อฝัน ผู้หลับตาจินตนาการถึงวันที่โลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในสันติภาพ การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว กับวลี War is over