พล.อ.ประวิตร เข้มสั่งรับมือกับภัยคุกคามทางทะเลที่กระทบผลประโยชน์ชาติ จาก COVID-19
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำ รองนรม. เปิดเผยว่า เมื่อ 24 ก.ย. 63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ครั้งที่ 2/63 ณ สมช. ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามทางทะเลที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติและเตรียมแผนรองรับอย่างเป็นระบบ
ที่ประชุมรับทราบ สรุปการประเมินสถานการณ์ทางทะเล ที่มีผลกระทบหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลตึงเครียดขึ้น มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศทางทะเลมากขึ้น ระบบการปฏิบัติการความมั่นคงทางทะเลถูกลดขีดความสามารถลง จากการงด เลื่อนหรือยกเลิกกิจกรรมความร่วมมือทางทะเล ซึ่งองค์กรและหน่วยงานทางทะเลระหว่างประเทศ ได้กำหนดมาตรการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดตามมาอย่างต่อเนื่อง พบการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลของกลุ่มชาวโรฮีนยาจากบังคลาเทศไปยังมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังพบอัตราการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือสูงขึ้น ขณะที่การปฎิบัติการช่วยเหลือทางทะเลมีความยากลำบากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศไม่อนุญาตให้เรือที่พบผู้ติดเชื้อเข้าเทียบท่า
ในขณะเดียวกัน ผลกระทบเศรษฐกิจทางทะเล พบการทำประมงผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น จากการระดมทรัพยากรทางทะเลของประเทศต่างๆ ซึ่งแรงงานภาคประมงผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านการคัดกรองยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด การท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งหดตัวลง การขนส่งสินค้าทางทะเลลดลง การผลิตน้ำมันดิบลดลง ด้านทรัพยากรทางทะเลสมบูรณ์ขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แต่พบปริมาณขยะทางทะเลมีเพิ่มขึ้น จากขยะทางการแพทย์และขยะพลาสติกที่เกิดจากการบริการอาหารจานด่วน
นอกจากนั้นได้รับทราบ การขับเคลื่อนแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลที่ผ่านมา (ปี 58-64) มุ่งบูรณาการเชื่อมโยงให้สอดรับกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนสำคัญของประเทศและนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล รวมทั้งสถานการณ์และภัยคุกคามทางทะเล โดยมีโครงการและกิจกรรมต่างๆและมีการวัดผลสัมฤทธิ์สะท้อนความสำเร็จในแต่ละปีงบประมาณ โดยการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ( ศรชล.) สำคัญที่ผ่านมา ได้รักษาษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ด้วยการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและกฏหมายระหว่างประเทศ โดยยึดหลักมนุษยธรรม ทั้งการนำเข้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายเข้าในราชอาณาจักร การทำประมงผิดกฎหมาย การควบคุมป้องกัน COVID-19 และคัดกรองประชาชนและชาวประมงกว่า 624,500 คน รวมทั้งการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการจัดระเบียบประมงชายฝั่ง เป็นต้น
ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา แนวทางการจัดทำแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฉบับใหม่ ปี 66-70 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570 ) โดยให้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งภัยคุกคามในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและประเทศไทย ร่วมกับการติดตามและประเมินผลการดำเนินการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่ผ่านมา โดยให้ตรวจสอบและรวบรวมประเด็นทางทะเลในยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติให้มีบูรณาการเชื่อมโยงกัน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ให้จัดตั้งกลไกเพื่อจัดทำร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฉบับใหม่ให้ครอบคลุมทุกมิติ
พล.อ.ประวิตร’ ได้ย้ำกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ขับเคลื่อนงานตามแผนงานให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ( ศรชล.) ประสานการทำงานร่วมกับ กอ.รมน.ในพื้นที่ทางบก ทั้งการแก้ปัญหาเร่งด่วนและการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต และให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในภาคประมงมากขึ้น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการควบคู่กับการเสริมสร้างองค์ความรู้และศึกษารูปแบบการจัดตั้งองค์กรจัดการความรู้ทางทะเล กระจายให้ความรู้กับท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบของทุกภาคส่วนให้มากที่สุด รวมทั้งให้นำผลจากข้อเสนอแนะทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ ในการประเมินผลการบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ที่เน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ
อ้างอิง : สนง.ประชาสัมพันธ์