ชาวบ้านเทพายืนยันประกาศก้อง ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แนะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
สืบเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 2,960 ไร่ มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เครื่องที่ 1 ในปี 2564 และเครื่องที่ 2 ในปี 2567 โดยมีโครงการท่าเทียบเรืออยู่บริเวณด้านหน้าโครงการเพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลของ เชื้อเพลิงถ่านหินประเภทบิทูมินัส และซับบิทูมินัสนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่ผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ
สำหรับโครงการดังกล่าวที่เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ต้องทำตามขั้นตอนทางกฏหมายที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) กฟผ. จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ดังต่อไปนี้
- กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้องและสุขภาพ หรือ Public Scoping (ค.1) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557
- กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.2) ดำเนินการระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม 2558 โดยใช้วิธีการศึกษาผ่านการสนทนากลุ่ม และสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ
- กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Public Review (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฏาคม 2558
โดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นการประชุมที่เร่งด่วน ปิดลับ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน