สงขลา ส้มจุกจะนะ กิโลกรัมละ 200 บาท เกษตรเผยต้องสั่งจองกันข้ามปี
วันที่ 17 พ.ย. 64 นายดนกอนี เหลาะหมาน วัย 53 ปี เกษตรกรชาวตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปลูกส้มจุกจะนะพันธุ์พื้นเมือง ในเนื้อที่รวม 7 ไร่ กว่า 400 ต้น และได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตล็อตสุดท้าย ส่งออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้ ซึ่งสวนส้มจุกแห่งนี้เป็นสวนที่ปราศจากสารเคมี มีการดูแลโดยวิธีธรรมชาติและได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ส่งจำหน่ายในราคาสูง โดยคุณภาพเกรด A จะจำหน่ายในกิโลกรัมละ 200 บาท เกรด B 180 บาท และเกรด C 150 บาท
บังนี เล่าว่า ตนมีความตั้งใจที่จะพลิกฟื้นส้มจุกจะนะพันธุ์พื้นเมือง โดยในปี 2544 ได้เริ่มขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและเพาะขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ จากนั้นได้ทดลองปลูกเริ่มแรก จำนวน 50 ต้น แต่ระยะแรกผลผลิตออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เริ่มท้อใจเนื่องจากส้มจุกเป็นพืชที่ดูแลยากกว่าส้มชนิดอื่น และหากปล่อยปละละเลยจะได้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ แต่ด้วยใจรักในการทำสวนส้มจุกและต้องการอนุรักษ์ผลไม้ประจำถิ่นเอาไว้ ทำให้สวนส้มจุกแห่งนี้ไม่ได้ถูกปรับพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นทดแทน
ต่อมาในปี 2560 ส้มจุกจะนะ เริ่มได้รับความนิยมและมีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคมีมาก ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ถึงขั้นต้องสั่งจองล่วงหน้ากันเลยทีเดียว และนอกจากจะจำหน่ายผลสุกแล้ว ยังจำหน่ายกิ่งพันธุ์ส้มจุกพื้นเมือง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้
โดยส้มจุกจะนะมีลักษณะที่แตกต่างจากส้มพันธุ์ทั่วๆ ไป คือ ตรงบริเวณขั้วของผลจะมีเปลือกนูนสูงคล้ายจุก จึงถูกเรียกว่าส้มจุก ด้วยรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ผิวส้มมีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ไม่หวานจัด และได้รับฉายาว่าเป็น ส้มหอมหมื่นลี้
นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมเกษตรกรมาโดยตลอด จนในปี 2561 ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน ที่ในขณะนั้นยังไม่ได้รวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ได้ยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบ และติดตามผลต่างๆ ประมาณ 3 ปี จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชนิดที่สองของจังหวัดสงขลา ในปี 2564
สำหรับส้มจุกจะนะ ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีความต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก จำหน่ายได้ในราคาดี และเป็นพืชอัตลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอจะนะ หากสนใจศึกษาวิธีการปลูก การดูแล ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่นายดนกอนี เหลาะหมาน หมายเลขโทรศัพท์ 061-176-4729
อ้างอิง : สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา