สงขลา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล แจงกรณีปัญหาก้อนน้ำมันเกลื่อนชายหาด ยืนยันไม่ได้มาจากแหล่งขุดน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทย
วันที่ 10 ม.ค. 66 ตามที่มีการรายงานข่าวปัญหาก้อนน้ำมันดินถูกคลื่นลมซัดเกลื่อนชายหาดในหลายอำเภอของจังหวัดสงขลา ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ การทำประมง และทรัพยากรสัตว์น้ำที่ประชาชนใช้บริโภคนั้น นางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 และสำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา สำรวจพื้นที่พบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมัน
ลักษณะเป็นก้อนน้ำมันสีดำเล็กๆปะปนกับขยะขึ้นตามแนวลอยคลื่นตลอดแนวชายหาด ตั้งแต่หาดเก้าเส้ง หาดชลาทัศน์ และหาดสมิหลา ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร ตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น ไม่พบน้ำมันและไขมันลอยบริเวณผิวน้ำที่เก็บตัวอย่าง มีค่าความเค็มอยู่ระหว่าง 20-25 ppt ความเป็นกรด-ด่าง 6.5-7.0 ค่าอุณหภูมิน้ำทะเล 26-26.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเล ส่งวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการซึ่งจะทราบผลภายใน 14-20 วัน
ด้านก้อนน้ำมันที่เกลื่อนชายหาด สำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลาได้เก็บตัวอย่างส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตรวจพิสูจน์คุณลักษณะด้านปิโตรเลียมเพื่อหาที่มาของก้อนน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ขอความอนุเคราะห์บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้ทำการวิเคราะห์คุณลักษณะเฉพาะทางเคมีของก้อนน้ำมัน กับตัวอย่างน้ำมันดิบในอ่าวไทย ได้แก่ น้ำมันดิบจากแหล่งสงขลา อี น้ำมันดิบจากแหล่งจัสมิน และน้ำมันดิบจากแหล่งบัวหลวง ด้วยเทคนิค Gas Chromatography Mass Spectrometry (GC-MS) โดยการเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ชนิด Hopanes และ Steranes
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสารไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิดทำให้สามารถนำมาจำแนกความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างไฮโดรคาร์บอนแต่ละตัวอย่างได้เพื่อหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมัน มีรายละเอียด ดังนี้ ลักษณะทางเอกลักษณ์ลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) ของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ของตัวอย่างก้อนน้ำมันบริเวณชายหาดตำบลสนามไชย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย ได้แก่ น้ำมันดิบจากแหล่งสงขลา อี น้ำมันดิบจากแหล่งจัสมิน และน้ำมันดิบจากแหล่งบัวหลวง พบว่า มีลักษณะที่แตกต่างกันซึ่งสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ตัวอย่างก้อนน้ำมันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากที่ใด ทั้งนี้ หากต้องการระบุหาที่มาจากที่อื่นจำเป็นต้องนำน้ำมันต่างๆที่เป็นต้นกำเนิดมาวิเคราะห์ เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเตา เป็นต้น และทำการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์เพื่อหาแหล่งที่มาต่อไป
ส่วนขยะและก้อนน้ำมันที่เกลื่อนชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ และการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 ได้ประสานเทศบาลเมืองสงขลาดำเนินการทำความสะอาดหาด ซึ่งก้อนน้ำมันเหล่านี้เกิดจากเมื่อน้ำมันแพร่กระจายสู่ผิวน้ำ ส่วนประกอบของน้ำมันที่มีน้ำหนักเบาจะระเหย
อ้างอิง : ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง