สมช. เตรียมเคาะคลายล็อกเฟส 4 แนะเตรียมความพร้อมยกเลิกเคอร์ฟิว
วันที่ 10 มิ.ย.2563 พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการลดการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ จะนำทั้ง 12 กิจการ-กิจกรรม ซึ่งอยู่ในโซนสีแดงนำเข้าสู่การพิจารณาคลายล็อกระยะที่ 4 ซึ่งทุกกิจกรรม-กิจการ เช่นสนามมวย สถานบันเทิง ต่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะได้รับการผ่อนคลาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกกิจกรรม-กิจการ
การพิจารณา ต่อ หรือ ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อ หากประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ และนิ่งติดต่อกันได้หลายวันอย่างที่ผ่านมา หรือเป็นกรณีการติดเชื้อของผู้กักตัวที่กลับจากต่างประเทศ ก็จะนำไปสู่การปลดล็อกได้เร็วขึ้น ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมการไว้ทุกรูปแบบ ดังนี้
ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ปรับลดความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ เช่น สามารถชุมนุมได้ ยกเลิกเคอร์ฟิว
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถที่จะบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ต่างจากการใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ที่ไม่สามารถบูรณาการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้ามาร่วมปฏิบัติงานได้
ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด หากต้องมีการนำคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไปกักตัวที่สัตหีบ ก็ต้องอาศัยอำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ออกคำสั่งเป็นทอดๆ ไปจนถึงสัตหีบ หรือหากเกิดกรณีที่ผู้โดยสารนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเกิดการติดเชื้อกันมาก เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่จะสั่งปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้สายการบินทั้งหมดลงจอด ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่ทุกวันนี้ที่ทำได้ เพราะอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งนี้จะนำทุกข้อเสนอของทุกกิจกรรม-กิจการมาพิจารณาผ่อนคลายด้วย ซึ่งหากวันนี้หากพิจารณาเสร็จสิ้น ก็จะนำเข้าสู่การประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่เพื่อหารือพิจารณาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามที่ประชุมจะมีการเสนอให้พิจารณาทดลองยกเลิกการกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน เวลา 23.00-03.00 น. หรือ เคอร์ฟิว 15 วัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติง่ายขึ้น แต่ให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นต่อภาครัฐ และหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งเพื่อให้สามารถบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพราะบางมาตรการไม่สามารถใช้ในกฎหมายปกติ
อ้างอิง : ข่าวจริงประเทศไทย ,ศูนย์ข้อมูล COVID-19