แถลงการเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ถามถึงความเข้าใจ และชัดเจนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
วันที่ 13 ก.พ. 65 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ต่อกรณีการแก้ไขปัญหาของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นตามที่คณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ฯลฯ ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ฯลฯ
รวมถึงผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็นตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พวกเรายังไม่เห็นถึงความชัดเจนในการดำเนินการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แม้จะมีการทำหนังสือถามไปยังเลขาธิการฯแล้ว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาแต่อย่างใด หลังจากนั้นพวกเราได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า สภาพัฒน์ฯ กำลังดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดกรอบจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA. กับกลุ่มต่างๆ จึงยังความสงสัยและมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเบื้องต้น ได้มีความเห็นชอบตามที่พวกเราได้นำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาไปด้วยแล้ว อันเป็นหลักการสำคัญที่สภาพัฒน์ฯ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้ในทันที จึงสงสัยว่าเวทีที่สภาพัฒน์ฯกำลังจัดอยู่นี้ จะเป็นการทำให้สาระสำคัญของกระบวนการศึกษาผิดเพี้ยนไปจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาไว้แล้วหรือไม่ อย่างไร
2. บทบาทของสภาพัฒน์ฯ ในเบื้องต้น คือการดำเนินงานเพื่อให้มีกลไกในการกำกับและสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายวิชาการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอที่จะให้มีองค์ประกอบสำคัญในกลไกนี้ คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา เป็นแม่งานหลักที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งสภาพัฒน์ฯควรจะเริ่มต้นด้วยการจัดให้มีการปรึกษาหารือกันของหน่วยงานดังกล่าวเสียก่อน เพื่อที่จะได้ออกแบบการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น และขอย้ำว่ากลไกดังกล่าวต้องไม่มีศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อยู่ด้วย
3. การกำหนดขอบเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะต้องไม่กว้างและแคบจนเกินไป แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตของระบบภูมินิเวศน์ที่มีผลกระทบถึงกันอย่างเหมาะสม
4. ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีมาจนถึงวันที่(12 ก.พ. 65) รวมเวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 60 วัน ถือเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าอย่างมาก และเพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงขอถามถึงแผนการดำเนินการและช่วงเวลาที่จะดำเนินงานในการศึกษานี้ทั้งหมด เพื่อที่จะได้มีการเตรียมการที่ถูกต้องของทุกฝ่ายต่อไป
5. ขอให้สภาพัฒน์ฯ ดำเนินการไปตามกรอบการศึกษา SEA. ที่พวกเราเสนอแนบให้คณะรัฐมนตรีใช้ประกอบการพิจารณาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นไปตามผลของการเจรจาระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล จากการไปเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งพวกเราจะต้องแลกกับอิสรภาพจากการถูกสลายการชุมนุม และถูกดำเนินคดีถึง 38 คน เพียงเพื่อต้องการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับพวกเราในอนาคต จากโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะสร้างขึ้นในบ้านของพวกเราเท่านั้น
6. ในการติดต่อประสานงานเพื่อการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้อง พวกเราในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้มอบหมายให้นายรุ่งเรือง ระหมันยะ (โทร 095-0152255) ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เป็นผู้ติดต่อประสานงาน ทั้งนี้เพื่อสภาพัฒน์ฯ จักได้สะดวกในการติดต่อประสานงานหรือสื่อสารใดๆกับพวกเราได้อย่างตรงไปตรงมา
อ้างอิง : เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น