ศาลปกครองวินิจฉัย คำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอม
จำแนกคำวินิจฉัยศาลปกครองสงขลาหลังมีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงาม ระยะที่ 1 และ 2 ออกได้ 15 ประการ
1) ศาลฯ ระบุว่า แม้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 (กรมโยธาธิการและผังเมือง) จะอ้างว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ประเภทติดชายฝั่งรูปอแบบคอนกรีตขั้นบันได จำนวน 4 โครงการ ในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นผลดีและบริเวณด้านหน้าเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลยังมีหาดทรายให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ก็ตาม แต่กรมโยธาธิการฯ ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานหรือรายงานทางวิชาการที่รับรองหรือยืนยันว่า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ จะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายหาดได้อย่างแท้จริงและได้ผลดีจริง โดยไม่สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อพื้นที่หาดทรายบริเวณหน้าเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล รวมทั้งพื้นที่ชายหาดบริเวณใกล้เคียงหรือต่อเนื่องที่ไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลในอนาคต
2) ในชั้นนี้ศาลฯ จึงเห็นว่า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลรูปแบบคอนกรีตขั้นบันได นอกจากจะไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถาวรและยั่งยืนแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อพื้นที่ชายหาดที่ไม่มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลอีกด้วย
3) ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินโดยโดยไม่สมเหตุสมผล
4) เมื่อการดำเนินการก่อสร้างโครงการของกรมโยธาธิการฯ มีลักษณะเป็นการก่อสร้างประเภทกำแพงติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ลักษณะของโครงสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตขั้นบันได ซึ่งหากกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไปจนแล้วเสร็จอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน และชายหาดม่วงงาม ซึ่งอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้
5) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและชุมชนม่วงงาม รวมทั้งพื้นที่ชายหาดบริเวณดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้ และคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไม่มีเหตุผลต่อความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการจัดทำบริการสาธารณะ และไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของกรมโยธาธิการฯ
6) ก่อนจะนำไปสู่การชี้ประเด็นข้างต้น ศาลฯ ได้นำข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ส่วนมาประกอบ นั่นคือ ข้อมูลเส้นแนวชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2556-2558 จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเส้นแนวชายฝั่งของหาดม่วงงามมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้อมูลการศึกษาโครงการของกรมโยธาธิการฯ
7) นอกจากนี้ช่วงเดือน ม.ค. 2562 เกิดเหตุการณ์พายุปาบึกพัดผ่านพื้นที่ช่ายฝั่งของภาคใต้ แต่สภาพชายหาดม่วงงามไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ยังคงมีสภาพปกติ
8)ตามที่กรมโยธาธิการฯ อ้างว่าได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งทะเลฯ ที่หาดมาราช เทศบาลตำบลสทิงพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โครงการก่อสร้างเขื่อนฯ พื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจกาพระราชดำริ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โครงการก่อสร้างเขื่อนฯ พื้นที่ชายหาดปราณบุรี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
โครงการก่อสร้างเขื่อนฯ พื้นหาดพระแอะ ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งหลังการก่อสร้างโครงการทั้งสี่แล้วเสร็จ ปรากฎว่าสามารถป้องกันการกัดเซาะได้เป็นผลดี บริเวณด้านหน้าเขื่อนฯ ยังคงมีหาดทรายให้สามารถใช้ประโยชน์ได้
9) แต่โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่า ก่อนที่กรมโยธาธิการ จะดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนฯ ที่หาดม่วงงาม เทศบาลเมืองม่วงงามได้มีหนังสือถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอให้ทบทวนผลการศึกษาการประมวลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งปี 2560 ซึ่งนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล ในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกสำรวจสภาพพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561
และร่วมกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบย้อนหลังพบว่าเป็นชายหาดที่มีการเปลี่ยนตามฤดูกาล ไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่อาจมีทรายหน้าหาดหายไปเล็กน้อย เนื่องจากทรายถูกกักไว้บริเวณท่าเรือทางทิศใต้ของพื้นที่
10) ควรแก้ไขปัญหาการสะสมของทรายบริเวณท่าเรือ (ปัญหาที่เป็นต้นเหตุหลัก) โดยขุดทรายที่สะสมบริเวณท่าเทียบเรือให้ไหลมาทางทิศเหนือเพื่อให้ทรายกลับคืนสู่ระบบ และให้ตรวจสอบสภาพโครงสร้างของท่าเทียบเรือของกรมประมงและการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันว่ามีการใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด หากไม่มีความจำเป็นควรรื้อถอนท่าเทียบเรือออกเพื่อให้ทรายเคลื่อนตัวไปตามธรรมชาติ
11) ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ควรทำหนังสือชี้แจงให้เทศบาลเมืองม่วงงามและกรมโยธาธิการฯ ทราบว่า ปัญหาการกัดเซาะฝ่ายบริเวณหมู่ 8 และ 9 จะรุนแรงมากขึ้นหากมีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดในบริเวณพื้นที่หมู่ 7 ตามแผนงานที่มีอยู่ นอกจากนี้ในระยะยาวจะทำให้หาดทรายด้านหน้ากำแพงหายไปในช่วงมรสุมและทรายจะกลับคืนมาน้อยกว่าเดิมในช่วงฤดูลมสงบ เมื่อเวลาผ่านไปชายหาดจะลดระดับต่ำลงเรื่อยๆ
12) ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่หมู่ 8 และ 9 รุนแรงมากขึ้น ควรระงับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่กรมโยธาธิการ มีแผนที่จะดำเนินการ แต่ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง
13) นอกจากนี้ยังปรากฎว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีผลประเมินการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คือ ระบบกลุ่มหาดย่อย S11-5 พบว่าชายหาดทางใต้ของพื้นที่ ได้แก่ ต.ม่วงงาม ต.วัดขนุน และ ต.ชิงโค มีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งเฉลี่ย – 0.8 เมตรต่อปี
หลังจากนั้นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้นำเสนอแผนและแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่ โครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาดและมีการประชุมเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 โดยที่ชายหาด ต.ม่วงงาม ควรมีโครงการลดผลกระทบปลายโครงสร้าง โดยใช้การถ่ายเททราย เนื่องจากทางตอนใต้ของพื้นที่มีโครงสร้างสะพานปลาดักทรายเอาไว้และทำให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่
14) อีกทั้ง ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงามว่า จากการลงพื้นที่เดินสำรวจหาดม่วงงามในวันที่ 3 พ.ค. 2563 เริ่มจากทิศใต้ของขอบเขตสนามกีฬาลงมาทางทิศใต้สิ้นสุดที่สามแยกบริเวณเทศบาลเมืองม่วงงามรวมระยะทาง 630 เมตร
ซึ่งกรมโยธาธิการฯ ดำเนินโครงการเฟส 1 พบว่าชายหาดมีสภาพสมบูรณ์ ไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่ง แม้จะผ่านพ้นช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายปีถึงต้นปีไปก็ตาม
ซึ่งสอดคล้องกับสภาพชายหาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฟดูกาลและไม่รุนแรง เมื่อพ้นฤดูมรสุมชายหาดสามารถกลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมได้ เว้นเสียแต่จะมีการแทรกแซงสมดุลของธรรมชาติชายฝั่งทะเลโดยกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างโครงสร้างล้ำลงไปกีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอน
โดยพบว่า บริเวณชายหาดที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดการกัดเซาะน้อยกว่าบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงสร้าง อันเนื่องจากอิทธิพลของโครงสร้างชายฝั่งกีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนทราย และหากศึกษาแนวโน้มการกัดเซาะของชายหาดม่วงงามจากข้อมูลในอดีตมีความน่าจะเป็นต่ำที่ชายหาดจะเกิดการกัดเซาะลึกเข้ามาจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
15) ขณะเดียวกันมีการายงานการตรวจสอบการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดชายทะเลซึ่งจัดทำโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2554
พบว่า จากการสุ่มตรวจผลสำเร็จของโครงการฯ ที่มีการเลือกใช้กำแพงกันคลื่น 41 แห่ง งบประมาณ 722.07 ล้านบาทในพื้นที่ 13 จังหวัด พบว่ามีโครงการที่ไม่สามารถแก้การกัดเซาะได้หรือแก้ปัญหาได้บางส่วน จำนวน 15 โครงการ งบประมาณ 122.10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.58 ของจำนวนโครงการที่เลือกใช้โครงสร้างกำแพงกันคลื่นทั้งหมดที่สุ่มตรวจ
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ศาลปกครองสงขลา สรุปว่า ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 75 และข้อ 77 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ประกอบกับมาตรา 254 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 255 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จึงมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายหาดม่วงงาม บริเวณหมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา และและโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ ม.7, 8, และ 9 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา (ระยะที่ 2) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สำหรับสถานการณ์ และความคืบหน้าทางสำนักข่าว Hatyai Today News จะเกาะติด และนำมารายงานให้ทุกท่านได้ทราบอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก : น.ส.ฐิติลักษณ์ เกรียงเกริกไกร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลา ตุลาการเจ้าของสำนวน นายภิรัตน์ เจียรนัย รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา ตุลาการหัวหน้าคณะ น.ส.ระริน วรเศรษฐศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสงขลา
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์