สาธารณสุข เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง หวั่นระลอก2
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 รายใหม่จำนวนน้อยลง รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น หากประชาชนหย่อนการป้องกันตนเอง อาจทำให้สถานการณ์กลับมาพบผู้ป่วยระลอกสอง เพื่อเป็นการควบคุมโรคในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มการเฝ้าระวังเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง จากเดิมที่เน้นเฉพาะการตรวจค้นหาในผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือคนในครอบครัว และเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ
มีการมอบให้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ พิจารณาจากสถานการณ์ของพื้นที่เป็นหลัก โดยจะสนับสนุนการตรวจด้วยเทคโนโลยีที่ประหยัดมากขึ้น เช่น การตรวจเชื้อในน้ำลายแทนการตรวจจากโพรงจมูก การตรวจโดยการนำตัวอย่างมาตรวจรวมกันในครั้งเดียว 5 ถึง 10 ตัวอย่าง (Pooled Sample) กำหนดค่าเป้าหมายการตรวจไว้ที่ 6,000 คนต่อประชากรล้านคน คาดประมาณการตรวจ 85,000 คนต่อเดือน
ประชากรกลุ่มเสี่ยง หมายถึงกลุ่มที่มีแนวโน้มอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกันในที่พักหรือโรงงาน ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง หรือกลุ่มที่มีโอกาสพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรหรือพนักงานต้อนรับประจำรถสาธารณะ อาชีพเสี่ยงอื่น ๆ หรือกลุ่มที่มีแนวโน้มพบปะผู้ป่วยสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดนัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า ชุมชนแออัด เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโควิด 19 และการเว้นระยะห่าง หรือ ดีดีซี โพลล์ (DDC poll) 8 ครั้ง ตั้งแต่มกราคม – 5 พฤษภาคม 2563 ในกลุ่มตัวอย่าง 27,843 คน พบว่า การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ และแอลกอฮอล์เจลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังการรับประทานอาหาร จากครั้งที่ 1 ร้อยละ 61.2 เป็นร้อยละ 92.7 ในครั้งที่ 8 การสวมหน้ากากเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น จากครั้งที่ 1 ร้อยละ 56.2 เป็นร้อยละ 74.6 ในครั้งที่ 8 แต่มีอัตราการสวมหน้ากากลดลงจากครั้งที่ 5 ที่พบร้อยละ 94.9 ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนการสวมหน้ากากเมื่อไม่มีอาการป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้อลดลง จากครั้งที่ 3 ร้อยละ 93.5 เป็นร้อยละ 75.7 ในครั้งที่ 8 นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนไม่สวมหน้ากากเพิ่มขึ้นเมื่อไม่มีอาการเจ็บป่วย เป็นร้อยละ 2.1
สำหรับการเว้นระยะห่าง พบว่า ประชาชนรับรู้ว่าต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72.3 เป็นร้อยละ 94.1 แต่การลดความถี่และระยะเวลาในการไปในพื้นที่สาธารณะไม่เปลี่ยนแปลงมาก อาจเป็นเพราะประชาชนเชื่อว่า การเว้นระยะห่างทางกายช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อลดลงจากร้อยละ 84.8 เป็นร้อยละ 78.1 นอกจากนี้ พบว่าต้องการให้ภาครัฐจัดจำหน่ายหน้ากากราคาถูก มีจุดแอลกอฮอล์เจลบริการ และเข้มงวดการคัดกรองผู้ใช้บริการสถานที่สาธารณะต่าง ๆ
นายแพทย์สุวรรณชัยยังได้กล่าวว่า “แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการ แต่ประชาชนต้องไม่ผ่อนการปฏิบัติตัว ยังคงต้องปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ทั้งการล้างมือบ่อย ๆ การสวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้านทุกครั้ง การเว้นระยะห่าง และลดกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่นจำนวนมาก”
อ้างอิงข้อมูลจาก: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์