ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโนรา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
วันที่ 16 ธ.ค. 64 ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สมัยสามัญครั้งที่ 16 แบบออนไลน์ ได้ขึ้นบัญชี “โนรา” (Nora) ศาสตร์การรำของไทย ในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติขององค์การ UNESCO
สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส ระบุว่า “การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทยอีกครั้งหนึ่งและถือเป็นการสร้างความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของโนราในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึ่งแสดงถึงบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษา ประเพณีและศิลปะดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย”
สำหรับ “โนรา” หรือ “มโนราห์” เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า “นระ” เป็นภาษาบาลี – สันสกฤต แปลว่ามนุษย์ เพราะการร่ายรำแต่เดิมแล้ว การรำโนราจะรำให้เสมือนกับท่าร่ายรำของเทวดา ปัจจุบันไทยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 3 ชิ้น ได้แก่
1. โขน
2. นวดไทย
3. รำโนราห์
สำหรับการแสดงโนราในสมัยก่อนและปัจจุบัน มีความแตกต่างกันบ้างตามความเปลี่ยนแปลงของวันเวลา สังคมและความนิยม แต่ยังมีหลายส่วนที่คงรักษาของเก่าเอาไว้ เช่น ท่ารำแบบโบราณ การแต่งกาย การเบิกโรง การโหมโรง ส่วนที่เปลี่ยนไป คือ เครื่องดนตรี จึงเป็นการยืนยันให้เห็นว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงโนรานั้นไม่ได้หยุดนิ่ง มีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับชุมชน กาลเวลา และสังคมของผู้ปฏิบัติโนราในทุกยุคสมัย
อ้างอิง : โนรา , องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)