วันมหิดล 24 ก.ย. 2563 ครบ 91 ปีวันคล้ายวันสวรรคต “พระบิดาการแพทย์ไทย”
ตามจดหมายเหตุพระราชประวัติ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือที่บุคคลากรทางการแพทย์เรียกขานกันติดปากว่า “พระบิดา” นั้น พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระองค์ประสูติ เมื่อ 2 ม.ค. 2434 ณ พระตำหนักสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง”
พระองค์ทรงพระราชกรณียกิจทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ จนได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
ก่อนที่เวลาต่อมาพระองค์จะประชวรด้วยโรคตับอักเสบ ทรงเป็นฝีบิดในตับ อาการโรคพระวักกะ (ไต) พิการกำเริบ ประชวรอยู่นานกว่า 4 เดือน และในวันที่ 24 ก.ย. มีพระอาการน้ำท่วมพระปัปผาสะ (ปอด) แล้วสิ้นพระชนม์ซึ่งขณะนั้นพระปกเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล มหิดล ณ อยุธยา สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์แก่ผู้สืบสายราชตระกูล
เมื่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระโอรสขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับแต่นั้นวัน 24 ก.ย. จึงกลายเป็น”วันมหิดล” ซึ่งเป็นวันที่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ร่วมใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราโชวาทว่า
“การที่จะได้ความไว้วางใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า ‘ใจเขาใจเรา’ ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น”
อ้างอิง : มหาลัยสงขลานครินทร์