สงขลา พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู จำนวน 142 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
วันที่ 18 ต.ค 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในขณะนี้เข้าสู่ช่วงหน้าฝนประกอบกับได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้มีฝนตกถึงตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่ม ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ และโรคที่มาจากน้ำท่วมขัง จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของ สำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 9 ต.ค 2565 พบรายงาน ผู้ป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู จำนวน 142 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 10.09 ต่อประชากรแสนคน และพบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 พบผู้เสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราผู้ป่วยตาย ร้อยละ 2.82 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 103 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 55 – 60 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง รองลงมาคือกลุ่มวัยเรียนและอาชีพเกษตรกรรม อำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อ.สะบ้าย้อย รองลงมาคือ อ.สะเดา หาดใหญ่ จะนะ และเทพา
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม กล่าวว่า เชื้อโรคไข้ฉี่หนูพบอยู่ในปัสสาวะของสัตว์หลายชนิด แต่พบได้บ่อยในหนู เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังและเยื่อบุที่มีแผลหรือรอยขีดข่วน หรือผิวหนังและเยื่อบุที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน จากการย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมขัง หรือว่ายน้ำ การสัมผัสปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อเยื่อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรง หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะหนู อาการที่พบหลังได้รับเชื้อ ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ตาอักเสบแดง พบจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ จะพบอาการได้ตั้งแต่ 2-3 วัน ถึง 3 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิต จากภาวะตับ และไตล้มเหลวได้ ดังนั้นหากต้องทำงานแช่น้ำ เดินลุยน้ำหรือย่ำดินโคลน เป็นประจำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ใช้ถุงมือยาง ล้างมือให้สะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรคไข้ฉี่หนู และควรทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดเศษอาหารหรือขยะใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู และที่สำคัญควรมีการควบคุม กำจัดหนูในบริเวณ ที่อาศัยของคน หากมีอาการสงสัยป่วยโรคไข้ฉี่หนู สามารถเข้ารับบริการ ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา