เคาะแนวทางอนุรักษ์และปกป้องโลมาอิรวดีฝูงสุดท้าย 14 ตัวของไทยที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลา
วันที่ 9 พ.ค. 65 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัว สุดท้ายในทะเลสาบสงขลาเพื่ออนุรักษ์อย่างยั่งยืน เบื้องต้นได้นำเสนอรายงานสถานการณ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาและการสำรวจประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตอนบน ทั้งการสำรวจทางเรือและทางอากาศโดยเครื่องบินเล็กปีกตรึงและอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 พบมีแนวโน้มประชากรลดลง โดยปี 2558 พบประมาณ 27 ตัว แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 14 – 20 ตัว
สาเหตุการตายหลักเกิดจากการติดเครื่องมือประมงถึงร้อยละ 60 หากลดอัตราการตายจากเครื่องมือประมงให้เป็นศูนย์ได้ คาดว่า ประชากรโลมาอิรวดีจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 ตัว ภายใน 10 ปี ภาพรวมที่ประชุมได้นำเสนอร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบแผนงานระยะสั้น ระหว่างปี 2565 – 2566 จำนวน 5 แผนงาน คือ
- การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย
- การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดีและจัดทำพื้นที่หวงห้าม
- การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี
- การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย
- การช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น
ส่วนแผนงานระยะยาว ระหว่างปี 2566 – 2570 คือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวย้ำว่า ที่ประชุมยังได้มีมติให้สถาบันวิจัยวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปรับแผนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมจัดทำงบประมาณการดำเนินการ และทำหนังสือขอความร่วมมือการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควบคู่กับศึกษาแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่าง MOU ความร่วมมือการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา
อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)