วิเคราะห์กลุ่มนักท่องเที่ยว IMT-GT หมุดหมายแห่งภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ของจังหวัดสงขลา
ในช่วงของเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลาของเราทรุดเซาอย่างหนักจากการขาดกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสงขลามาอย่างยาวนาน ถึงอย่างนั้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาคจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นจะเปิดประเทศเร็วขึ้น และจะทำให้สงขลาสามารถกลับมาเป็นจังหวัดที่มีรายได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
โดยครั้งนี้จังหวัดสงขลาจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมองไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากจากกลุ่ม IMT-GT (IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) หรือกลุ่มสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือจากทั้งสามประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย คือ การให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษา โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้โครงการ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดเป้าหมายหลักของโครงการไว้
จากข้อมูลของ Center for Indonesia Malaysia Thailand Subregional Cooperation กล่าวว่าภาพร่วมมูลค่าเศรษฐกิจในกลุ่มของ IMT-GT คิดเป็น 16% จากภาพรวมของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด และมีสัดส่วนของแรงงานสูงถึง 36 ล้านคน
กลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างแรงดึงดูดไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้คือ
1. กลยุทธ์มาตรฐาน Halal หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะดึงกลุ่ม IMT-GTจังหวัดสงขลาจำเป็นที่จะต้องชูจุดเด่นในเรื่องของการมีมาตรฐาน Halal บนสินค้าและการบริการอย่างที่ทราบกันดีในกลุ่ม IMT-GT นั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่มีลักษณะการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความสะอาดของอาหาร การบริการที่ต้องอิงกับหลักทางศาสนา ทางจังหวัดต้องสร้างความเป็นมืออาชีพร่วมถึงเพิ่มขีดความสามารถในมาตรฐาน Halal เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้
2.กลยุทธ์ปรับปัญหาคอขวดที่การขนส่งสาธารณะ
ระบบการขนส่งที่ในจังหวัดจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการสาธารณะให้สะดวกมากขึ้น เพราะอย่างเห็นกันภายในจังหวัดสงขลาโดยเฉพาะกับอำเภอหาดใหญ่ที่มักมีปัญหารถติดอันเหมือนเป็นปัญหาคอขวดที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกับรถบริการสาธารณะที่เรายังพบเห็นการขับที่ดูจะไม่เป็นระเบียบเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อมีการเปิดประเทศย่อมมีนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการใช้การขนส่งสาธารณะอย่างแน่นอน ซึ่งทางจังหวัดต้องเข้ามาควบคุมเพื่อให้ระบบการขนส่งสาธารณะมีมาตราฐานความปลอดภัยต่อผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการ
3. ปรับสไตล์พักผ่อนหย่อนใจเป็นสไตล์การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
ผลกระทบจากการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวในรูปแบบพักผ่อนหย่อนใจ มีการท่องเที่ยวที่น้อยลง ซึ่งทางจังหวัดอาจต้องเพิ่มในส่วนของการท่องเที่ยวภาคธุรกิจให้มากขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีจังหวัดสงขลานับเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอย่างล่าสุดที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นไมซ์ซิตี้เมืองที่ 6 ของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสงขลามีศักยภาพในการจัดงานภายใต้กิจกรรมของอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการประชุม การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อรางวัล การจัดประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ และการจัดอีเว้นท์หรือนิทรรศการต่างๆ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์การศึกษาเพื่อการเรียนรู้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย และ IMT-GT Vision 2036 report