จ.สงขลา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ชวนจับตาฝนดาวตกเจมินิดส์ และ ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปีส่งท้ายปี 2563
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เชิญชวนจับตา 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญส่งท้ายปี ในเดือนธันวาคม ประกอบด้วย “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
ซึ่งโดยในปีนี้คาดว่า จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง และอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง คือ ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” เคียง “ดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่า ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction 2020” จะเกิดในช่วงวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน สังเกตได้ในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวเเพะทะเล ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามสดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 13 – รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17:00 – 05:00 น. โดยสดร. ร่วมกับเทศบาลตำบลออนใต้จัดกิจกรรม “โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว ฝนดาวตกเจมินิดส์” ที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-1885-4353 และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา และฉะเชิงเทราสำหรับปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี “The Great Conjunction 2020” จัดวันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2563 เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และ สงขลา
อ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ