ผู้ว่าสงขลา พร้อมแก้ไขปัญหาราคาปลากะพงตกต่ำพร้อมย้ำเตือนภัยโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน
เมื่อวานนี้ (11/06/63) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มอบหมาย นายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อม นายรุ่งโรจน์ และผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา รับหนังสือร้องเรียนจากองค์กรชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลากะพงขาว นำโดย นายกอเดช เตะหมัดมะ ประธานองค์กรชุมชนฯ และตัวแทนผู้เลี้ยงปลากระพง กว่า 50 คน
ซึ่งมายื่นหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายในผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอให้แก้ไขราคาปลากะพงตกต่ำ และไม่มีตลาดในการจำหน่ายส่งผลให้เกษตรกร 2,000 ราย ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลาและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ได้ร่วมหารือและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิให้มีนโยบายควบคุมปริมาณการนำเข้าปลากะพงจากต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากส่วนราชการหรือบริษัทห้างร้านช่วยซื้อปลากะพงจากเกษตรกรโดยตรง จัดมาตรการช่วยเหลือโดยการประกันราคา เป็นต้น
ฝ่ายกรมประมง ฝากแจ้งเตือนภัยเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝนจากสภาพอากาศในประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยในบางพื้นที่ของประเทศมีฝนตกมากทำให้สภาวะอากาศ อุณหภูมิน้ำและออกซิเจนในน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันเกิดการตายอย่างเฉียบพลันได้ ซึ่งผลกระทบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในบ่อดินและกระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำคลอง อ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยโน้มน้าวที่สำคัญที่กระตุ้นให้สัตว์น้ำเกิดความเครียด อ่อนแอและยอมรับเชื้อโรคอื่นได้ง่าย
จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินการ เตรียมการป้องกันสัตว์น้ำหลุดออกจากบ่อ ด้วยทำเป็นผนังสูงจากขอบบ่ออย่างน้อย 50 เซนติเมตร ล้อมให้รอบบ่อ หรือปรับปรุงคันบ่อให้สูงพอกับปริมาณที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะ หรือมีปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ ทำร่องระบายน้ำและขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้ร่องระบายน้ำตื้นเขินออกไป เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีไว้ให้พร้อม จัดเตรียมปูนขาวไว้สำหรับพื้นที่ดินกรวด ดินเปรี้ยว เพื่อปรับสภาพน้ำในบ่อหลังน้ำท่วมประมาณ 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ควบคุมดูแลสัตว์น้ำให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอโดยเสริมอาหารประเภทสารผสมล่วงหน้า เช่น วิตามินรวม วิตามินซี โปรไบโอติก เป็นต้น ทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหารออกให้หมดเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค ควบคุมคุณภาพน้ำ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ให้เหมาะสมและคงที่อยู่เสมอ
ทั้งนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลาจะได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
“บริการด้วยใจ คนไทยยิ้มได้”
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา