บทวิเคราะห์ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดม่วงงาม ผลกระทบและการพัฒนาวิถีชีวิตแนวชายฝั่ง
เมื่อพูดถึง หาดม่วงงาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ความยาวระยะทาง 7.2 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอสิงหนครเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหาดทรายขาว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ลอยกระทงและพักแรม มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในตอนนี้ได้เกิดกรณีที่มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้อง และแสดงความกังวลเกี่ยวกับ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนลงมือสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ด้วยการติดแฮซแท็ก #SAVEหาดม่วงงาม โดยทางเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามได้ทำการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอให้ระงับการก่อสร้าง
ทางสำนักข่าว Hatyai Today News ได้ลงพื้นที่สอบถามความจริงทั้งจากตัวแทนโยธาธิการ จังหวัดสงขลาที่ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน และทางภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
โดยในทางภาคประชาชนชาวม่วงงามที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ประมาณ 100 คน นั้น ยืนยันว่าไม่ต้องการโครงการดังกล่าว เนื่องจากชายหาดในพื้นที่ม่วงงามไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง และประชาชนห่วงกังวลว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้หาดทรายของหาดม่วงงามหายไป และกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนม่วงงาม รวมไปถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการนั้นมีความบกพร่อง
แน่นอนว่าทางฝั่งตัวแทนโยธาธิการ จังหวัดสงขลา คุณผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา กล่าวว่า บริเวณชายฝั่งโครงการหมู่ที่ 7-9 ตำบลม่วงงาม มีอัตราการกัดเซาะอยู่ในช่วง 0.50-1.50 เมตรต่อปี หรือกัดเซาะไปแล้วประมาณ 9 เมตร ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราการกัดเซาะไม่รุนแรง อยู่ในช่วงกัดเซาะน้อยถึงกัดเซาะปานกลาง แต่เนื่องจากมีแนวถนนเลียบชายหาด ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของชุมชน พบว่าแนวชายหาดถูกกัดเซาะขยับเข้าประชิดแนวถนนเลียบชายหาด บางช่วงกัดเซาะถึงแนวถนน ซึ่งในอนาคตอาจไม่ปลอดภัยต่อการสัญจรของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หากไม่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขให้ทันเวลา
สำหรับ โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อรวบรวมข้อมู รายงานต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการให้รับรู้ถึงปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมทั้งข้อมูลในเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และเพื่อหาข้อสรุปผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตลอดแนวชายหาดป้องกันปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนโครงการก่อสร้างฯ โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังจะช่วยป้องกันความเสียหายของอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวและช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ปัจจัยในเชิงวิถีชีวิต ซึ่งทางชาวบ้านได้ให้ความเห็นว่า หลังจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดม่วงงาม อาจทำให้ภาพความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดเป็นเพียงภาพในอดีตที่ คนในชุมชนนึกถึงและเป็นที่น่าสลดใจยิ่งที่มีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจกระแสหลักมากเพียงใด ยิ่งทำให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเดินถอยหลังสู่ความเสื่อมโทรมมากขึ้นเท่านั้น บริเวณหาดม่วงงามเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบกับการกัดเซาะชายฝั่ง วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปชาวบ้านต้องปรับตัวให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือการสำรวจกลุ่มประชากร จากข้อมูลที่ได้รับมานั้นทำให้ทราบว่าการทำแผนการประชุม มีผู้ว่าเข้าร่วมทั้งสิ้น 105 รายซึ่งหากเทียบกับจำนวนประชากรในตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 16,248 คน การสำรวจกลุ่มตัวอย่างอาจเป็นไปได้ว่าทางโยธิการจำเป็นที่จะต้องทำแผนการประชุมให้ได้ราว 347-376 คน ตามวิธีการคำนวณด้วย Krejcie and Morga Sample size ซึ่งจะเป็นการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์ และความคืบหน้าทางสำนักข่าว Hatyai Today News จะเกาะติด และนำมารายงานให้ทุกท่านได้ทราบอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6 Pr.Songkhla ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์