สงขลา ย้ำกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย รักษาที่บ้านได้แบบ เจอ แจก จบ
วันที่ 16 มี.ค. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่าจากสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด -19 ที่พบรายงานผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งสามารถพักดูแลรักษาที่บ้านหรือสถานที่แยกกักตัวในชุมชนได้ ภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรสาธารณสุขตามมาตรการการดูแลรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกของกระทรวงสาธารณสุข (OPSI : Outpatient with Self Isolation ) หรือ เจอ แจก จบ
ซึ่งเป็นทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ให้สามารถเข้าถึงการบริการรักษาได้ฟรีจากโรงพยาบาล /โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์สุขภาพชุมชน(ศสช.) หรือ PCU (Primary Care Unit) โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา ขณะนี้จังหวัดสงขลา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการรักษาแบบ “ เจอ แจก จบ” แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 12,532 ราย เป็นผู้ติดเชื้อ ฯ ที่เข้าสู่ระบบบริการจากหน่วยบริการสาธารณสุขครอบคลุมครบทั้ง 16 อำเภอ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อ ฯ อยู่ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ร้อยละ 31.36 (3,893 ราย) , รองลงมาคือ อ.ระโนดร้อยละ 12.04 (1,509 ราย) และ อ.สะเดา ร้อยละ 11.79 (1,477 ราย) ของผู้ป่วยทั้งหมด (ข้อมูลตั้งแต่ 1-15 มี.ค. 2565)
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม ได้กล่าวย้ำว่า ระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19 แบบผู้ป่วยนอกหรือ “เจอ แจก จบ” เน้นการดูแลรักษาสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง โดย 1) เจอ หมายถึง ตรวจพบเชื้อโควิด 19 ที่บ้าน ซึ่งเมื่อตรวจ ATK เป็นผลบวก ให้โทรแจ้ง รพ.สต. หรือศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้บ้าน หรือไปที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา ฯ 2)แจก หมายถึง ได้รับแจกยาตามอาการและคำแนะนำ ซึ่งหากผลเป็นบวกทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจะพิจารณาประเมินความเสี่ยงและโรคประจำตัว หากไม่มีความเสี่ยงจะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก แบบสมัครใจและกลับไปแยกกักตัวรักษาที่บ้าน 10 วันโดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามระดับอาการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาตามอาการ ได้แก่ ลดไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ขับเสมหะ / กลุ่มให้ยาฟ้าทะลายโจร และกลุ่มให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ พร้อมเอกสารให้คำแนะนำในการกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) และวิธีรับประทานยา/ผลข้างเคียง
และจะมีการติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง ซึ่งหากมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับหน่วยบริการที่ดูแล เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้ และ 3) จบ หมายถึงผู้ป่วยได้รับการลงทะเบียนในระบบบริการสาธารณสุขที่รับไว้ดูแลเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกและมีความต้องการเข้ารับการตรวจที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในโรงพยาบาล ฯ ขอให้ยึดหลักป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล ( Universal Prevention ) อย่างเคร่งครัดโดยใส่หน้ากาก 2 ชั้นตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น , เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1 – 2 เมตร , หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด , ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัสดุอุปกรณ์ หรือจุดสัมผัสร่วมต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่สาธารณะ
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา