ชาวสวนหวั่นร่ำไห้ ผลไม้ส่งออกไปตลาดจีนไม่ได้
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้การส่งออกลดลง ทำให้เกษตรกรชาวสวนเริ่มหวั่นใจว่าจะส่งออกผลไม้ตามฤดูกาลไม่ได้และปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำ ภายหลังร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 2/2563 หากได้รับผลกระทบ COVID-19 มีการวิเคราะห์ว่าจะส่งออกทุเรียนได้ 350,827 ตัน มังคุด 108,940 ตัน และเงาะ1,767 ตัน ปริมาณรวม 461,534 ตัน จึงมีส่วนต่างของผลผลิตที่ส่งออกไม่ได้ครบตามภาวะปกติ ดังนี้ ทุเรียน 58,471 ตัน มังคุด 12,105 ตัน และเงาะ 13,699 ตัน รวมทั้งสิ้น 84,275 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องบริหารจัดการในกรณีที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ทำให้ส่งออกตลาดจีนไม่ได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ได้ข้อสรุป 2 มาตรการหลักในส่วนของผลไม้ คือ
1.มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร มี 4 โครงการย่อย ประกอบด้วย
1.1 โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้ วิกฤต COVID-19 ช่วงวันที่ 25 เม.ย. – 10 พ.ค. 2563
1.2 โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First
1.3 โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจาก COVID-19 ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มงวดเกี่ยวกับสุขอนามัยของแรงงาน
1.4 โครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดแคมเปญ/นิทรรศการ/Road Show/Exhibition ในประเทศต่างๆ
2. มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งในแต่ละมาตรการจะมีโครงการย่อยและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ในการร่วมรณรงค์บริโภคผลไม้และกระจายผลผลิตไปยังแหล่งต่าง ๆ จำนวน 84,275 ตัน ประกอบด้วย
2.1 มาตรการช่วยลดภาระทางการเงิน ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยบอร์ด ธ.ก.ส. ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการ ช่วยเหลือเกษตรกร คือ
1. ให้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ระยะเวลาการดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564
2. สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องดำเนินธุรกิจ
ภาพ: hatyaitoday
อ้างอิง: Linetoday