ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 2 จะยึดหลัก “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เป็น 3 กลไกหลักเพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป “ทันสมัย” โดยเฉพาะการสนับสนุนเด็กไทยผ่านทักษะสำคัญ คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
สำหรับแนวทาง “เท่าเทียม” คือ การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนแนวทาง “ยั่งยืน” คือ การยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรม และประมงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงให้เป็น Digital Agri College รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกินน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน