จัดกิจกรรมลงแขกดำนา ทำนาริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง
วันที่ 13 มิ.ย. 65 จังหวัดพัทลุง บริเวณแปลงนาริมเสาโรงเรียนวัดปากประ หมูที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง ริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง จัดกิจกรรมลงแขกดำนา ทำนาริมทะเล เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาทำนาริมทะเลเพื่อการท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โดยนำนักเรียนจากโรงเรียนวีรนาถศึกษามูลนิธิ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยได้เริ่มหว่านข้าวมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 จนถึงวันนี้ต้นกล้าโตเจริญงอกงาม พร้อมปักดำจึงได้ร่วมกันลงแขกปักดำต้นข้าว ทำนาริมทะเลกันในวันนี้ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกของการเริ่มฤดูกาลทำนาข้าวริมทะเลสาบในปีนี้ และการนำนักเรียนเรียนรู้ประสบการณ์จริงจะได้ถึงภูมิปัญญาทำนาริมทะเล จะช่วยสร้างจิตสำนึกรักษ์ถิ่น พร้อมเป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศริมทะเลสาบสงขลาในการทำนาริมทะเลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทำนาริมทะเลรวมทั้งเป็นการอนุรักษ์สิ่งดีงามที่ทรงคุณค่าสู่คนรุ่นหลังอย่างภาคภูมิและยั่งยืน
สำหรับวิถีทำนาในทะเลสาบหนึ่งเดียวของประเทศไทย โดยชาวประมงริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือการออกเรือหาปลา เนื่องจากบ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา คิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบ เพื่อให้มีผลผลิตเลี้ยงครอบครัว มาตั้งแต่บรรพบุรุษของพวกเขา คิดค้นการทำนาข้าวในทะเลสาบโดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวตามแนวชายฝั่งเกือบ 10 กิโลเมตร มาทำการเพาะปลูกโดยแต่ละปีจะทำนาข้าวลักษณะนี้ ได้เพียงครั้งเดียวตั้งแต่ช่วงเริ่มปักดำต้นเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวปลายๆเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ท้องทะเลสาบบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงได้ทำนาข้าวในทะเลสาบตามแนวชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ละแปลงจะทำนาจากชายฝั่งลงไปในทะเลประมาณเกือบ 40 เมตร เหตุผลที่เลือกทำนาในช่วงเวลานี้ เป็นเพราะน้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำกร่อย และเป็นช่วงน้ำลงมากที่สุด หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ได้ผลผลิต เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเสียหาย
อ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง