(ชมคลิป) จ.สงขลา เกิดปรากฏการณ์พายุงวงช้าง กลางทะเลบริเวณเกาะหนู-เกาะแมว
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 63 ช่วงเวลาบ่ายที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์พายุงวงช้าง กลางทะเลบริเวณเกาะหนู-เกาะแมว ซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ซึ่งพายุงวงช้างก่อตัวในทะเลอ่าวไทย ห่างจากชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา
“พายุงวงช้าง” หรือ “พายุนาคเล่นน้ำ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง มักจะเกิดขึ้นในน้ำ โดยเฉพาะในทะเลจะเห็นบ่อยกว่าในแหล่งน้ำจืด มีลักษณะเหมือนงวงช้างสีดำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างท้องฟ้ากับผืนน้ำ ส่วนใหญ่ที่พบมีความยาวประมาณ 10-600 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 1-10 เมตร ช่วงเวลาที่เกิดจะมีฝนฟ้าคะนองร่วมด้วย โดยลักษณะที่ปรากฎอาจเห็นงวงช้างเพียงอันเดียว หรือจะเกิดพร้อมกันหลายอันก็ได้ หมุนด้วยอัตราความเร็ว 20-80 เมตรต่อวินาที สามารถเคลื่อนที่ได้แต่ช้า ถ้าความเร็วลมในพายุมีสูงก็อาจทำให้เรือเล็กๆ ล่มได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ควรหนีไปในทิศทางตรงกันข้ามกับพายุ แต่ที่เคยเกิดในประเทศไทย ยังไม่พบความอันตราย เหตุการณ์นี้จะปรากฎอยู่ประมาณ 2-30 นาที จากนั้นก็จะสลายตัวไปในอากาศอย่างรวดเร็ว
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของอุณหภูมิอากาศที่กระจายอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นหย่อม ๆ และอุณหภูมิที่แตกต่างกันเหล่านั้นถูกดูดเข้าไปอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ ทำให้อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จึงเกิดลมพัดวนบิดเป็นเกลียวขึ้นไปในบริเวณที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า เมื่ออากาศขยายตัว และเย็นลงจนถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นเหมือนพายุหมุน มีลักษณะคล้ายงวงช้าง เชื่อมผืนน้ำและเมฆ โดยปรากฏการณ์นี้พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิมาก ๆ จะมีโอกาสเห็นได้ ถ้าเทียบกับพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศนั้น นับว่า “พายุงวงช้าง” มีขนาดเล็กมาก.
อ้างอิง : สนง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา กรมประชาสัมพันธ์