ภาควิชาการม.อ. รวมตัว5กูรู จาก5วิทยาเขต ถกประเด็น “ความท้าทายและโอกาสจากการปรับตัวของธุรกิจ ช่วง COVID-19”
นักวิชาการสงขลานครินทร์ ร่วมเสวนาออนไลน์ ทาง PSUconnext ประเด็น “ความท้าทายและโอกาสจากการปรับตัวของธุรกิจ ช่วง COVID-19” ชี้ผู้ประกอบการหลังโควิดจะเน้นการรักษากระแสเงินสดของตัวเอง และมุ่งใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะมีประสบการณ์จากความไม่แน่นอน และต้องมีการประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงนอกเหนือจากมุ่งหาโอกาสและผลกำไรเพียงอย่างเดียว
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กูรูนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจาก 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีองค์ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์เรื่องการลงทุน ประกอบด้วย ดร.พัฒนิจ โกญจนาท คณะวิทยาการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตติยาพร จารุมณีรัตน์ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิทัศน์ เพราแก้ว โครงการจัดตั้งคณะนวัตกรรมการเกษตรและประมง ดร.วรพจน์ ปานรอด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำเนินรายการ โดย ดร.พงศกร พิชยดนย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ
จากการระบาดของ COVID-19 อันเป็นทั้งวิกฤติ โอกาส และบทเรียนเพื่อการปรับตัวสู่การอยู่รอดเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต แม้ COVID-19 จะไม่กระทบกับทุกกลุ่ม แต่ทำให้ทุกฝ่ายต้องตระหนักในการให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงแทนที่จะคำนึงถึงแต่ผลกำไรดังเช่นแต่ก่อน โดยภาคธุรกิจต้องเริ่มมีแนวคิดในการบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่จะมีโอกาสสร้างผลกระทบและมาตรการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหา เพราะการไม่คาดการณ์เรื่องดังกล่าวจะเป็นการปิดโอกาสการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ
โดยที่ความเสี่ยงมีหลายรูปแบบ เช่น ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการ ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าบางธุรกิจมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งจะกระทบมากเมื่อลูกค้ากลุ่มนั้นหายไป จึงต้องมีลูกค้าไว้หลายกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัว ต้องมีวิธีการรับมือเพื่อให้ธุรกิจคงอยู่ได้ในระยะยาว โดยต้องมีมุมในการคิดเพิ่มกว่าเดิม จากการคิดแต่โอกาส มาเป็นเพิ่มความคิดเรื่องความเสี่ยงด้วย
แน่นอนว่าผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับตัว คือการไม่ยึดโยงอยู่กับธุรกิจเชิงเดี่ยว ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคือ เมืองที่มีความหลากหลายอยู่รวมกัน เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ชุมทางการขนส่ง การส่งออก มีธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นแหล่งรวมสถานศึกษา ส่วนราชการ มีความหลากหลายของการเป็น “เมืองชุมทางหรือการเป็นหัวเมืองหลัก” มีการรวมตัวกันของผู้คนเพื่อเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่น นอกจากนั้น ควรมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างรายรับจากความหลากหลาย เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างคน 2 รุ่น 2 วัย ในการพัฒนาเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำการตลาดออนไลน์ การรวมตัวกันของผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยเพื่อทำผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นแบบผสมผสานร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว การเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และร่วมผลักดันเรื่องการจับคู่การเดินทางกับประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี หรือ Travel Bubble และเน้นรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะที่มาพักผ่อนในประเทศอยู่เป็นช่วงเวลานาน
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจาก COVID-19 ที่มีผลกระทบไปย่อมหญ้าในภาคเศรษฐกิจ ยังทำให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการรักษากระแสเงินสดไว้ มีการสำรองไว้เป็นรายจ่ายจำนวนหนึ่งเพื่อรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น และต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแทบจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และผู้ประกอบการจะไม่ลงทุนสิ่งที่สร้างภาระผูกพันให้กับตัวเองทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว
อย่างไรก็ตามในทุกวิกฤติมีโอกาส ผู้ร่วมเสนวนาเสนอแนะว่า เมื่อได้โอกาสและมีทรัพยากรต้องปรับจุดแข็งเพื่อรับกับโอกาสนั้น เช่นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม การเข้าสู่ธุรกิจต้องเข้าในจังหวะขาขึ้น และต้องผ่อนเพื่อรอจังหวะในขาลง ผู้ประกอบการต้องมองในทุกกระบวนการทุกรายละเอียด นอกจากนั้นผู้ทำธุรกิจต้องมีโค้ช เพราะทุกคนไม่ได้รู้ทุกเรื่อง จึงต้องมีที่ปรึกษาและผู้ชี้แนะหรือศึกษาจากสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “PSU Connext”