มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยจัดกิจกรรมเสวนาตามหาช้างแคระ หลังเคยพบบริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา 7 เชือก
วันที่ 16 ม.ค. 66 นายสนธยา แก้วขำ ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย กล่าวว่า ช้างแคระทะเลน้อย เป็นตำนานที่ชาวบ้านเล่าต่อกับมาช้านาน แต่ก็ยังไม่ปรากฏเป็นหลักฐานที่มารองรับการมีอยู่จริงของช้างแคระแต่เมื่อมูลนิธิได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน เกี่ยวกับช้างแคระทะเลน้อย ก็มีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า ในเขตพื้นที่ทะเลน้อยเมื่ออดีตมีช้างอาศัยอยู่จริง แต่จะเป็นช้างแคระหรือไม่นั้น จะต้องค้นหากันต่อไปแต่อย่างไรก็ตามเมื่อทางมูลนิธิฯ ได้เคลื่อนไหวตามหาร่องรอยช้างแคระทะเลน้อย ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ครอบครองชิ้นส่วนของช้างทะเลน้อยไว้ ก็นำออกมาแสดงยืนยันได้ว่าเป็นชิ้นส่วนช้างแคระ

และข้อมูลที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นเอกสารของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อดังของประเทศไทยที่เสียชีวิตแล้ว ได้กล่าวถึงเรื่องช้างแคระในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ประจำวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2506 ว่า เมื่อสิบปีก่อน เคยพบช้างแคระหรือช้างค่อมถึง 2 ครั้ง พื้นที่บริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา ครั้งแรกพบจำนวน 7 เชือก ครั้งที่ 2 จำนวน 4 เชือก ช้างแคระกำลังกินหญ้าอยู่ตามหนองน้ำ และมองเห็นได้ชัดว่ารูปร่างสูงใหญ่เหมือนควายของชาวบ้าน แต่เมื่อปี 2506 ได้ออกไปตามหาอีกครั้งก็ไม่พบช้างประเภทนี้อีกแล้ว

ว่าที่ร้อยตรี สิทธิพร บาลทิพย์ ประธานชมรมคนรักเมืองลุง ในกรุงเทพฯและอุปนากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตำนานช้างแคระทะเลน้อยเป็นตำนานที่ยังสามารถค้นหาได้โดยคนในพื้นที่ เพราะอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ยาวมากนัก มีชาวบ้านที่มีประสบการณ์โดยตรง เคยพบเห็นช้างที่ออกหากินอยู่บริเวณริมน้ำทะเลน้อย ส่วนจะเป็นช้างแคระหรือไม่อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์กันต่อไป แต่ในเบื้องต้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเก็บข้อมูลและหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวกับช้างทะเลน้อยมาให้ได้มากที่สุด และถ้าหากมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นช้างแคระ ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของชาวพัทลุง ที่ค้นพบร่องรอยขชองช้างแคระเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย
อ้างอิง : มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย