สธ.สงขลา เตือนระวังโรคไข้เลือดออกหากมีไข้สูง ปวดศีรษะเมื่อยตามตัวควรพบแพทย์
วันที่ 11 ม.ค. 66 นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ระยะนี้ภาคใต้และจังหวัดสงขลามีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้โรคไข้เลือดออกกลับมาระบาดอีกครั้งตามวงรอบปีที่จะระบาด โดยไข้เลือดออกมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงตัวเมีย ซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร หากยุงลายไปกัดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด ก็จะทำให้เป็นโรคไข้เลือดออกได้ ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรงมาก แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลันและไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขนขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง อาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ทั้งนี้โรคไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อ สายพันธุ์นั้น แต่ก็มีโอกาสที่จะติดสายพันธุ์ อื่น ๆได้อีก ซึ่งการติดเชื้อครั้งที่สองอาจรุนแรงกว่าครั้งแรก
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดสงขลา (ข้อมูล ตั้งแต่ 1 มค – 6 มค 66) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 12 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.85 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุ ที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 3.02 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาอายุ 10-14 ปี (อัตราป่วย 2) และกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี (อัตราป่วย 1.02) ตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรสูงสุดคืออำเภอสทิงพระ อัตราป่วยเท่ากับ 4.09 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาบางกล่ำ และควนเนียง ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในระยะนี้ ขอให้มีการสังเกตและเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยหากมีคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงลอย ให้สงสัยว่าอาจจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกให้ใช้ยาพาราเซตามอลในการลดไข้ไม่ควรใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เช่นยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค นาพรอกเซน และยากลุ่มสเตียรอยด์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการทำให้เกิดเลือดออกได้ง่าย และเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วย สิ่งสำคัญของการป้องกันไข้เลือดออก คือ “ อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด ” โดยเด็กเล็กควรนอนในมุ้ง , ทายาป้องกันยุงกัดก่อนไปโรงเรียน ในผู้ใหญ่ให้ทายาป้องกันยุงกัดก่อนออกไปทำงาน เช่น ไปกรีดยาง และควรสวมเสื้อแขนยาว , กางเกงขายาว นอกจากนี้ต้องสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่บ้านตนเองทุก ๆ สัปดาห์ กำจัดขยะหรือจัดการภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยไม่ต้องรอให้มีน้ำขัง นอกจากนี้หากมีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน มีผื่น / จุดแดงขึ้นที่ผิวหนังตามตัว แขนขา เกิดอาการช็อค และมีปัญหาเลือดออกได้ง่ายให้รีบไป
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา