ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เตรียมเยี่ยวยาควายตายที่ทะเลน้อยสูงสุดตัวละ 25000 กว่าบาท
วันที่ 20 เม.ย. 65 กรณีที่ฝูงควายน้ำทะเลน้อย ซึ่งเกษตรกรนำมาเลี้ยงไว้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โดยเฉพาะใต้สะพานเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ซึ่งเป็นสะพานยกระดับที่เชื่อมระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ อ.ระโนด จ.สงขลา ทำให้ควายน้ำได้ล้มตายลงมากกว่า 100 ตัว จากสาเหตุสำคัญการขาดแคลนอาหารสัตว์ เนื่องจากในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 – เมษายน 2565 มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเลี้ยงควายน้ำ จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้เร่งให้การช่วยเหลือเหตุดังกล่าว
ที่สะพานยกระดับเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้นำฟางข้าวอันก้อนที่ได้รับสนับสนุนจาก ดร.อภัย จันทนจุลกะ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง จำนวน 250 ก้อน เพื่อแจกจ่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในพื้นที่ตำบลพนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ที่นำความเลี้ยงในพื้นที่ทะเลสาบและประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะแหล่งหญ้าใต้น้ำที่เป็นแหล่งอาหาร จากการเกิดสภาวะฝนตกต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมจากปลายปี 2564 จนวันที่ 5 เมษายน 2565 ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.พนางตุง หมู่ที่ 7 ต.ทะเลน้อย และตั้งแต่วันนี้ทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กว่า 30 นาย ลงพื้นที่คอกเลี้ยงควายของเกษตรกร เพื่อตรวจสุขภาพควายจำนวนกว่า 800 ตัว ที่ยังมีอาการอ่อนแอ่ จากการขาดอาหาร และอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมา
ทางด้านนายบุญส่ง รัตนพร ปศุสัตว์จังหวัดจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ควายของเกษตรกรที่เลี้ยงบริเวณพื้นที่ทะเลสาบและเสียชีวิตเกือบ 100 ตัว จากการขาดแคลนอาหารแหล่งหญ้าใต้น้ำ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นอัตราการเสียชีวิตของควายลดน้อยลง เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือโดยเฉพาะฟางข้างอันก้อนและอาหารเสริม ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานปศุสัตว์ และจากการสนับสนุนดร.อภัย จันทนจุลกะ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงดูแลสุขภาพของควายที่อ่อนแอ่ อีกกว่า 800 ตัว
ขณะเดียวกัน หลังจากการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงจะเยี่ยวยาควายของเกษตรกรที่เสียชีวิต รายละไม่เกิน 5 ตัว สูงสุดตัวละไม่เกิน 25,000 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด และหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จะทำการพูดคุยกับเจ้าของผู้เลี้ยงควายอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นในอนาคตข้างหน้า
อ้างอิง : ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง