“เขื่อนเหมืองตะกั่ว” ชาวบ้านจ.พัทลุงโวยของเดิมมีแล้ว 4 แห่ง ไม่จำเป็นต้องสร้าง
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.63 ชาวบ้านกลุ่มนี้บางส่วนได้ปักหลักประท้วงอยู่ที่ศาลกลางจังหวัดพัทลุง นายเดชา เหล็มหมาด ประธานกลุ่มรักษ์โตนสะตอ พร้อมด้วย นายสันติชัย ชายเกตุ เครือข่ายชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง ตัวแทนกลุ่มสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล จ.พัทลุง และชาวบ้านหมู่ 1 ในพื้นที่ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง จำนวนประมาณ 100 คน ได้จัดกิจกรรมเดินชูป้าย พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด โดยยื่นต่อ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการนี้ เพราะถือเป็นโครงการที่ไร้ประโยชน์พร้อมขีดเส้นตายภายในวันศุกร์ที่ 21 ส.ค. หากข้อเรียกร้องยังไม่บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็พร้อมขึ้นไปประท้วงต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งเมื่อวันเสาร์ ที่ 22 ส.ค. 63 ทางกลุ่มชาวบ้านบางส่วนได้ร่วมกันเดินทางด้วยรถไฟไปปักหลัก ที่กรุงเทพฯ หน้ากระทรวงเกษตรฯ เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดยโครงการสำหรับอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เป็นโครงการของกรมชลประทาน ตามแผนจะก่อสร้างในพื้นที่ต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด หมู่ 1 ต.หนองธง อ.ป่าบอน ใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน แต่สิ่งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้คาใจก็คือ โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่กรมชลประทานกำลังผลักดันให้ก่อสร้าง อยู่ห่างจากเขื่อนป่าบอนซึ่งกรมชลประทานสร้างเสร็จไปแล้วเพียงแค่ 3 กิโลเมตร
นายเดชา บอกว่า กรมชลประทานมีความพยายามแบบไร้เหตุผล ในการจะผลักดันให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนแห่งนี้มาเป็นเวลา 5-6 ปีแล้ว เมื่อถูกคัดค้านก็จะชะลอโครงการไว้ชั่วคราวทุกครั้ง หลังจากนั้นไม่นานก็กลับมาผลักดันต่อ ทำให้ชุมชนชาวเหมืองตะกั่วทนต่อพฤติกรรมของกรมชลประทานไม่ไหว เพราะเหมือนโดนหลอกมาตลอด ประการสำคัญคือการสร้างเขื่อนแห่งนี้ไม่มีความจำเป็นกับพื้นที่ เนื่องจากบริเวณใกล้ๆ กันมีเขื่อนถึง 2 แห่งอยู่แล้ว ทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากล ไม่ผ่านการประชาพิจารณ์จากเวทีชาวบ้านอีกด้วย
เหตุผลในการคัดค้าน ซึ่งระบุอยู่ในหนังสือเรียกร้องให้ยุติการสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว มีทั้งหมด 5 ข้อ กล่าวคือ
1. ไม่มีความชัดเจนว่าโครงการนี้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตามที่กรมชลประทานอ้างจริงหรือไม่
2. ในรัศมี 10 กิโลเมตรรายรอบโครงการ มีเขื่อนอยู่แล้ว 2 เขื่อนที่ได้สร้างหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนไม่ได้ใช้น้ำตามที่กรมชลประทานกล่าวอ้าง
3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยไต่สวนความขัดแย้งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.58 ระบุไว้ชัดว่า ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว
4. รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คัดลอกข้อมูลจากรายงานโครงการอื่นใน จ.เพชรบูรณ์ เข้าข่ายการจัดทำรายงานปลอมหรือไม่
และ 5. พื้นที่สร้างเขื่อนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้มากกว่าการสร้างเขื่อน
อ้างอิง : เดชา เหล็มหมาด