บทวิเคราะห์ CPTPP ความหวังของประเทศไทย หรือผลกระทบอันโหดร้ายที่เกษตกรต้องได้รับ
ก่อนที่เราจะไปเข้าในบทความเต็มนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า CPTPP ไม่ใช้โครงการของบริษัท CP All แต่อย่างใด แต่คำว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) คือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
เมื่อมองไปในแง่ดี CPTPP ส่งผลดีต่อการส่งออก CPTPPจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ
การลงทุนจากต่างประเทศ
การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป
ความสามารถทางการแข่งขัน
CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ
แน่นอนว่า CPTPP มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนขึ้นกว่า TPP ทำให้ไทยได้ประโยชน์ในส่วนนี้เช่นกัน เช่น ในอุตสาหกรรมยา TPP เคยบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับการผูกขาดด้านยาเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาสามัญเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐและประชาชนทั่วไป ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็จะยิ่งสูงตาม แต่สุดท้ายข้อตกลงนี้ถูกระงับไป ไทยจึงไม่จำเป็นต้องเสียประโยชน์ส่วนนี้แล้วหากต้องการเข้าร่วมกับ CPTPP
และเราในฐานะที่เป็นชาวใต้จะได้ผลประโยชน์ใดบ้างจาก CPTPP อย่างแรกเลยเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นการเปิดตลาดในกลุ่มประเทศ แคนนาดาและเม็กซิโก ที่มีกำลังการซื้อที่สูงในแง่ของสินค้าเกษตรที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เมื่อมีข้อดีย่อมต้องมีข้อเสียตามมาเสมอ!! ความเสี่ยงที่ต้องได้รับหากไทยเข้ากับ CPTPP อุตสาหกรรมเกษตร ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น” หากมองในด้านเดียวคงเป็นอะไรที่โหดร้ายจนเกินไปเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
จากในแง่เมล็ดพันธ์ที่มีข่าวลือกันมาอย่างหนาหูว่าเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธ์ในราคาที่สูงขึ้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในความเป็นจริงนั้นเมื่ออ่านในสนธิสัญญา CPTPP พบว่าราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่นของพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตตอบแทนที่ ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรก็จะไม่ซื้อและไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้ ณ จุดนี้จะเป็นไปตามกลไกกาที่ตลาดที่ว่า ของดีมักจะมีราคาแพงเสมอ เพราะต้นทุนย่อมสูงกว่านั้นเอง
โดยสรุปแล้ว การเข้าร่วม CPTPP ล้วนส่งผลทั้งข้อดีและข้อเสียต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องทราบว่าผลดีกับผลเสียส่วนไหนเยอะกว่ากัน ณ สถานการณ์ในตอนนี้ CPTPP อยู่ระหว่างการพิจารณาจากภาคอยู่หากสถานการณ์คืบหน้าอย่างไรทางสำนักข่าว Hatyai Today News จะแจ้งให้ทุกท่านทราบอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก : BBC Thai ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์