สสวท.เผย PCR เทคนิคตรวจโควิด-19 ไวขึ้น 5 เท่า
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้นำเสนอเทคนิคการตรวจแบบรวมกลุ่ม (Pooled Sample Testing) โดยใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ช่วย พบว่า เทคนิคง่ายๆ นี้จะช่วยให้สามารถตรวจคนได้มากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ซึ่งจะทำให้สามารถขยายวงการตรวจไปสุ่มตรวจประชากรทั่วไปได้ โดยการตรวจใช้ทรัพยากรและงบประมาณแทบไม่เพิ่มขึ้น ยังคงมีประสิทธิภาพ และผลที่ได้มีความแม่นยำแทบไม่แตกต่างจากเดิม
“เทคนิคที่เสนอนี้ เป็นการตรวจแบบรวมกลุ่ม โดยแบ่งตัวอย่างที่จะตรวจออกเป็นกลุ่มๆ เมื่อแบ่งกลุ่มแล้วก็นำสารคัดหลั่งตัวอย่างในกลุ่มนั้นมารวมกัน และตรวจครั้งเดียว หากตรวจผลเป็นลบก็แสดงว่าทั้งกลุ่มไม่มีผู้ใดติดเชื้อ หากเป็นบวกค่อยตรวจตัวอย่างในกลุ่มนั้นรายคน ก็จะได้ผู้ติดเชื้อ วิธีนี้จะช่วยให้ตรวจคนได้มากขึ้น ดีกว่าการต้องเสียชุดตรวจตรวจทีละคน”
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ใน 100 คน ที่มาตรวจมีอยู่ 1 คนที่ติดเชื้อ หากเราแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน จะได้ 10 กลุ่ม แล้วเอาสารคัดหลั่งของคน 10 คนใน 1 กลุ่มมารวมกันและตรวจทีละกลุ่ม จะใช้การตรวจเพียง 1 ชุด ต่อกลุ่ม ดังนั้น ขั้นแรกนี้จะใช้ชุดตรวจเพียง 10 ชุด และ จะพบว่ามี 1 กลุ่ม ที่ได้ผลเป็นบวก คือกลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อคนนั้นอยู่
ทางด้าน ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ (ผอ. สสวท.) ได้บอดอีกว่า ในขั้นตอนที่สองก็นำ สารคัดหลั่งของกลุ่มที่พบผู้ติดเชื้อทั้ง 10 คน มาตรวจรายบุคคล ก็จะใช้ชุดตรวจอีก 10 ชุด และจะพบผู้ติดเชื้อ 1 คนนั้นได้ผลเป็นบวกอยู่คนเดียว ในสองขั้นนี้ ใช้ชุดตรวจรวมเพียง 20 ชุด ดีกว่าตรวจรายบุคคล ที่ต้องทำให้ใช้ชุดตรวจไปถึง 100 ชุด เป็นต้น
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าเพิ่มจำนวนที่ตรวจได้ถึง 5 เท่า และ ถ้ามีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยกว่านี้ประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี หากในจำนวนตัวอย่างที่นำมาตรวจนั้นมีเปอร์เซ็นต์ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงที่สูงขึ้น (เช่น 3-10 คนใน 100 คน) การคำนวณทางคณิตศาสตร์ชี้ว่าให้รวมกลุ่มที่เล็กลง และประสิทธิภาพก็จะลดลง แต่ก็ยังคงดีกว่าการตรวจทีละคน
ผอ.สสวท. กล่าวต่อไปว่าเทคนิคการรวมตัวอย่างทดสอบนี้ สามารถเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการตรวจได้ถึง 5 เท่าเทียบกับวิธีเดิม โดยใช้ อุปกรณ์ สารเคมี เวลา และงบประมาณ แทบไม่แตกต่างจากเดิม โดยยังคงความแม่นยำในการตรวจวัด ซึ่งหากนำความสามารถที่ตรวจได้เพิ่มมากขึ้นนี้ ไปตรวจแบบสุ่มในวงกว้าง จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลตามข้อเท็จจริง อันนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจ ดำเนินการทางนโยบาย มาตรการต่างๆ ที่จะมาดูแลประชาชน ประเทศได้ดีขึ้น และอาจจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจากมาตรการเคอร์ฟิวได้
อ้างอิง: สมาคมฟิสิกส์ไทย
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์