ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด สแกนทุกพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เข้าไทย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศเพื่อบ้านระลอก 2 อย่างรุนแรง และทำให้มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยทำให้ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้มีอาการป่วย ไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย และพื้นที่เสี่ยง ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค.63 เวลา 15:30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติควบคุมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากประเทศเพื่อนบ้านแบ่งพื้นที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจน
ทางด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติให้ชัดเจน ดังนี้
1) ในพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ประสานการปฏิบัติ และวางมาตรการร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดน ให้เข้มงวด ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ ด้วยการตั้งเครื่องกีดขวาง เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น
2) ในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค บุคคล และการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยดำเนินการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และให้วางระบบการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดน กำหนดจุดรับ-ส่งสินค้าให้อยู่ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกำหนดให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander : IC) ประจำช่องทางผ่านแดนทุกแห่งที่มีการอนุญาตให้ใช้ในการผ่านเข้า-ออก ของบุคคล สินค้า และยานพาหนะที่ชัดเจน ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
3) ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทาง เข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งบุคคลที่เคยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนแต่เดินทางไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบและดำเนินการ หากพบบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข หากพบการละเมิดให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หากฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยหรืออาญา และสร้างการรับรู้ความเข้าใจในการขอความร่วมมือภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ผู้จัดกิจกรรม และผู้ร่วมกิจกรรม ในพื้นที่สาธารณะ ให้เกิดความตระหนักรู้และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ หัวหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เว้นระยะห่างหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น และใช้แพลตฟอร์มไทยชนะในการเข้า-ออก
อ้างอิง : กระทรวงมหาดไทย