สคร.12 สงขลา ยังคงประกาศเตือนในช่วงมรสุมลงเล่นน้ำทะเลระมัดระวังแมงกะพรุนไฟ
อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงนี้ทางภาคใต้ได้เข้าสู่ในช่วงมรสุมและฤดูฝนแล้ว โดย ในช่วงฤดูมรสุมอาจพบแมงกะพรุนไฟ Chrysaora chinensis ลักษณะทั่วไปคล้ายร่ม ลำตัวสีขาว สีส้มหรือหลากหลายสีสัน และหนวดเป็นสีแดงสดหรือสีส้ม ด้านบนมีจุดสีขาวอยู่ทั่วไป สังเกตได้ง่าย ปากและหนวดยื่นออกมาทางด้านล่างหรือด้านท้อง เส้นหนวดมีจำนวนมากเป็นสายยาวกว่าลำตัว พบในทะเลทั้งบริเวณชายฝั่งและไกลฝั่ง พบได้ในเขตน้ำกร่อย พิษจากแมงกะพรุนไฟทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน
ทางด้านนายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์การบาดเจ็บจากแมงกะพรุนไฟในจังหวัดสงขลา พบว่าในช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พบผู้บาดเจ็บจากการสัมผัสพิษแมงกะพรุนไฟ จำนวน 21 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 76.19 พบมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ร้อยละ 80.95 ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาจากอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและต่างพื้นที่ โดยสัมผัสแมงกะพรุนไฟ Chrysaora chinensis ตำแหน่งที่สัมผัสพิษแมงกะพรุนส่วนใหญ่ คือบริเวณเท้าและมือ เนื่องจากการลงไปเล่นน้ำทะเล บริเวณหาด ชลาทัศน์, หาดเก้าเส้ง, หาดสมิหลา และหาดบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับบาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน
แนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนอย่างน้อย 30 วินาที และให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้เมื่อพบผู้บาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรืออื่นๆ ไปเทราดเป็นอันขาด เนื่องจากจะกระตุ้นพิษให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ห้ามถูหรือขยี้เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด และอย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่าหรือนำมาเล่น เพราะต่อมพิษยังสามารถปล่อยพิษได้ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
อ้างอิงข้อมูลจาก : สคร.12 สงขลา