ชายหาดสมิหลา ตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และเสาน้ำส้มสายชูช่วยลดพิษแมงกะพรุน
วันที่ 29 มิถุนายน 63 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๕ (สงขลา) พาคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ และชายหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา สืบเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ บริเวณชายหาดชลาทัศน์ โดยคาดว่าน่าจะเป็นแมงกะพรุนไฟ ซึ่งมีการสำรวจและพบแพร่กระจายตลอดชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างในช่วงฤดูฝนนี้
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการลงเล่นน้ำทะเลในบริเวณหาดชลาทัศน์ และหาดสมิหลา ทั้งนี้ได้ประสานสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สงขลา ให้ช่วยแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวด้วย จากนั้นได้สำรวจเสาน้ำส้มสายชูที่ติดตั้งไว้บริเวณชายหาด และเปลี่ยนขวดน้ำส้มสายชูให้พร้อมใช้งานต่อไป จากการสอบถามนักท่องเที่ยว มีข้อเสนอให้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และเสาน้ำส้มสายชูเพิ่มเติมทุกระยะ ๒๐๐ เมตรของชายหาด เพื่อจะได้ครอบคลุมตลอดแนวชายหาดและเกิดประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด
ซึ่งสาเหตุที่พบแมงกะพรุนกลุ่ม Scyphozoa ในพื้นที่น่านน้ำจังหวัดสงขลา น่าจะมาจากกระแสน้ำและคลื่นลม เนื่องจากแมงกะพรุนเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ล่องลอยในน้ำ สำหรับแมงกะพรุนกล่องยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด อยู่ในระหว่างการศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการแพร่กระจาย
ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลาจัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่ที่พบแมงกะพรุนกล่อง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรง (ผู้ป่วยหมดสติ) จากแมงกะพรุนกล่องิื
สำหรับข้อมูลความหลากหลายชนิดของแมงกะพรุน พบแมงกะพรุนจำนวนทั้งสิ้น 15 ชนิด เป็นแมงกะพรุนในกลุ่ม Cubozoa หรือแมงกะพรุนกล่องจำนวน 4 ชนิด
ได้แก่ Morbakka sp. A, Morbakka sp. B, Carukiidae (unidentifiable) และ Chiropsoides buitendijki แมงกะพรุนกลุ่ม Scyphozoa จำนวน 9 ชนิด
ได้แก่ Acromitus flagellatus (แมงกะพรุนหางขน) Catostylus townsendi (แมงกะพรุนขี้ไก่หรือแมงกะพรุนถ้วย) Cyanea buitendijli (แมงกะพรุนรกช้าง) Lobonemoides sp. (แมงกะพรุนลอดช่อง) Lychnorhiza malayensis (แมงกะพรุนนก) Phyllorhiza punctata (แมงกะพรุนลายจุดหรือแมงกะพรุนด่างออสเตรเลีย) แมงกะพรุนไฟ Chrysaora sp., Rhopilema hispidum (แมงกะพรุนหนังหรือแมงกะพรุนส้มโอ) และ Versuriga anadyomene (แมงกะพรุนหอม) และแมงกะพรุนกลุ่ม Hydrozoa จำนวน 2 ชนิด
ได้แก่ Physalia cf. utriculus (แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสหรือแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสหรือแมงกะพรุนหัวขวด) และ Porpita porpita (แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์หรือแมงกะพรุนกระดุมสีฟ้า) โดยมีแนวโน้มพบแมงกะพรุน C. buitendijki และแมงกะพรุนในสกุล Morbakka ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม) และพบแมงกะพรุนไฟ Chrysaora ตลอดช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือถึงช่วงต้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (เดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายน) และพบแมงกะพรุน P. cf. utriculus ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม)
อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง