คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 – กันยายน 2564 (ประกันรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – 1 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ ราคายางยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในช่วงที่ผ่านมา ขยับเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป
นอกจากนี้ยังอนุมัติโครงการที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของราคายางพาราในระยะยาว โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อันจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบกิจการและเกษตรกรชาวสวนยางพารา
สำหรับแหล่งเงินขอให้การยางแห่งประเทศไทยหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินจากพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในลำดับแรกก่อน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 หากไม่สามารถใช้จากแหล่งเงินดังกล่าวได้ ให้ใช้จากธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยโครงการฯ 1 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2565 จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท
2. ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้ออกไป และยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR + 1
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยาง และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 772.47 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 126.286 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 898.756 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
3. ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2569 เพื่อลดผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมยางจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ โดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ซึ่งสินเชื่อในทุกๆ 1 ล้านบาท จะต้องมีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศอย่างน้อย 2 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2563 หรือตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด ทั้งนี้ ให้การยางแห่งประเทศไทยตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563 หรือตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด แล้วแต่กรณี
4.อนุมัติเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ผู้เข้าร่วมโครงการต้องซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตของฤดูกาลใหม่ (รายเดือน) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยโครงการฯ 1 ปี แต่ไม่เกินเดือนธันวาคม 2563
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์